นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 7 พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวบ้านเจาะบากง หมู่ที่ 3 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลกจังหวัดนราธิวาส โดยมี นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส นางสาวสุนีย์ มาหะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางสาวสุพิชฌาย์ พงพาณิชย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน นายปิยะ ลำพรหมสุข นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส นายมหามะบักรี ลือบาฮางุ พัฒนาการอำเภอสุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโก-ลก รวมถึง ผู้ใหญ่บ้าน และปราชญ์ชุมชน ต้อนรับและให้ข้อมูลการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมฯ นายกิติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 7 กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนโดยมีผู้นำชุมชน อาสาสมัคร กลุ่ม/องค์กรเครือข่าย และประชารัฐ เป็นกลไกการพัฒนาในการบริหารจัดการชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มุ่งเป้าให้ชุมชน/หมู่บ้าน มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการชุมชนและพึ่งตนเองได้ มีการสร้างงาน สร้างรายได้และการแก้ไขปัญหาได้ตรงความต้องการของชุมชน ประชาชนมีคุณภาพดีขึ้น เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี ๒๕๖๕” ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2564 กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำ โครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้มีศักยภาพในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยใช้กระบวนการขับเคลื่อนงานด้านการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้ ให้มีการสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจ ควบคู่กับการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยอาศัยกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำงานแบบบูรณาการเพื่อให้เกิดการพัฒนา ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมศักยภาพของชุมชนให้เกิดกิจกรรมที่รองรับส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชน ในด้านของสถานที่ อาหาร วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในชุมชน เป็นการหนุนเสริมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเจาะบากง” มีศักยภาพโดดเด่นในเชิงประวัติศาสตร์และความสมบูรณ์ของนิเวศธรรมชาติ โดยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จทรงงานในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก โดยไม่ได้นัดหมายให้ราษฎรในพื้นที่ทราบเป็นการล่วงหน้าแต่อย่างใด เสด็จฯ ถึงบ้านเจาะบากง ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านย่อยของ บ้านโต๊ะเวาะ หมู่ที่ ๓ ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส มีราษฎรชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี มากกว่า 140 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2417) และห้วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูการทำนา ทันทีที่ได้ยินเสียงรถยนต์ของตำรวจทางหลวงที่นำขบวนเสด็จฯ ชาวบ้านละแวกนั้นต่างวิ่งกันออกมารับเสด็จฯ โดยขณะนั้น ลุงพร้อม (นายพร้อม จินนาบุตร ขณะนั้นอายุ ๔๗ ปี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ๒๕๕๕ สิริอายุ 78 ปี) ได้นั่งรับเสด็จฯ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็น ลุงพร้อมจึงได้ทรงรับสั่งให้หยุดรถพระที่นั่ง แล้วถามลุงพร้อมว่าที่นี่ที่ไหน และได้ตรัสถามถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งลุงพร้อม เป็นผู้ยกมือกราบบังคมทูล และระหว่างนั้น ลุงพร้อม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้มีการขุดคลองเชื่อมต่อคลองเจาะบากง เพื่อให้ครัวเรือนในพื้นที่ได้ใช้แหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน หน่วยงานราชการ จึงได้มีโครงการขุดคลองเชื่อมต่อคลองโต๊ะแดง และก่อสร้างสะพานคอนกรีตแทนสะพานไม้เดิม ทำให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลปูโยะ ได้อยู่ดีมีสุขจนถึงทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านเลยมากกว่า 40 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจของประสพนิกรชาวเจาะบากงและชาวจังหวัดนราธิวาส ตราบจนทุกวันนี้ เมื่อปี 2557 นายเจษฎา จิตรัตน์ นายอำเภอสุไหงโก-ลก ขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส) ได้ร่วมกับชาวบ้านเจาะบากง รื้อฟื้นสะพานไม้เจาะบากง สะพานไม้แห่งประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างขึ้นมาข้างๆ สะพานคอนกรีต ออกแบบโดยช่างคนเดิม สร้างทุกอย่างให้ออกมาเหมือนเดิมโดยการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อดำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์สะพานไม้เจาะบากงที่ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาที่นี่ และทำให้ชีวิตชาวบ้านที่นี่อยู่ดีกินดีขึ้นมาจวบจนปัจจุบันนี้ เป็นสะพานที่สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แหล่งน้ำเจาะบากงเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกไม้ผล ปลูกยาง ปลูกปาล์ม และปลูกพืชผักตามฤดูกาล มีการรวมกลุ่มพัฒนาวัตถุดิบในหมู่บ้านออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้แล้ว ความสมบูรณ์ของธรรมชาติในหมู่บ้าน สามารถสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรรมชาติในการศึกษาธรรมชาติ และยังมีหมอพื้นบ้านนวดแผนไทย สามารถให้ความรู้ด้านสมุนไพร รับประทานอาหารพื้นบ้าน บุฟเฟ่ต์ผลไม้ในสวน และส่งเสริมอาชีพการทำจักสาน จุดเด่นของหมู่บ้านสามารถพัฒนาด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้