เมื่อวันที่  18 ก.ย. นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า... สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องของการฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก ดูจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงและสร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองไม่ใช่น้อย ควรให้ลูกฉีดหรือเปล่า ถ้าฉีด ฉีดตัวไหนดี ไม่ฉีดได้ไหม ฉีดแล้วจะมีอันตรายหรือเปล่า นี่เป็นข้อมูลที่ผมรวบรวมมาให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครองครับ 1. แนวความคิดการฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กๆ เกิดขึ้นเพราะว่า อีกไม่นานโรงเรียนจะเปิดแบบปกติ และเด็กๆสามารถติดโควิดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ที่ทำให้เด็กๆกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติและปลอดภัย 2. จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีนโควิดตัวไหนได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตว่าเหมาะสมสำหรับเด็ก เพราะในช่วงแรกทุกบริษัทเน้นผลิตเพื่อผู้ใหญ่เป็นอันดับแรกๆ ในขณะนี้ มีเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์เพียงชนิดเดียว ที่เคลมว่า วัคซีนของตัวเองสามารถใช้ในเด็กได้อย่างปลอดภัย ที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็ก เหมือนที่ฉีดให้กับผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่ระบบต่างๆในร่างกายยังมีพัฒนาการ การจะให้วัคซีนใดๆ จึงต้องมีการคำนวนขนาดยาที่จะฉีดให้เหมาะสม รวมถึงมีการติดตามผลข้างเคียงในระยะยาวว่าจะมีผลใดๆกับพัฒนาการของเด็กหรือเปล่า จะส่งผลอะไรหรือไม่ ในขณะที่โควิดระบาดรุนแรงแบบนี้ การจะรอให้ศึกษาผลข้างเคียง ผลแทรกซ้อนต่างๆในเด็ก อย่างน้อย 3 - 5 ปี นานขนาดนั้นรอไม่ได้ ไม่ทันการณ์กันกับการระบาดของโควิดที่รุนแรงมากขึ้นทุกที นี่จึงเป็นที่มาของการที่รัฐบาลหลายๆประเทศ เริ่มตัดสินใจให้เด็กๆได้รับวัคซีนในที่สุด 3. Update ข้อมูลเวลา 22.20 น. ครับ สำหรับในไทย ตอนนี้มีวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ผ่านการอนุมัติรับรองโดยองค์การอาหารและยา ให้สามารถฉีดใช้ได้กับกลุ่มเด็ก ส่วน Sinopharm นั้น จนถึงวันนี้ที่เขียนบทความ (18 กันยายน 2564) ยังไม่ได้รับการอนุมัติโดย อย. ให้ใช้ในเด็กครับ 4. สำหรับประสบการณ์การฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ หลายประเทศมีการฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 - 18 ปีไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี และฮ่องกง 5. จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กที่ พบว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ มีตั้งแต่เล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงมาก ผลข้างเคียงแบบรุนแรงคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Myocarditis ซึ่งพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อาการมักจะเกิดภายในสามสิบวันหลังรับวัคซีน * ข้อมูลจาก CDC หรือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา อาการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบคือ มีใจสั่น ใจเต้นแรง เจ็บแน่นหน้าอก ส่วนมากหายไปได้เอง แต่บางรายอาจต้องแอดมิทเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล ตัวเลขในสหรัฐอเมริกา พบว่าฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 1 ล้านคน พบมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ 60 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางการแพทย์ยอมรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการเกิดโรคโควิด * ข้อมูลจาก CDC สหรัฐอเมริกา 6. ในประเทศไทยมีการฉีดไฟเซอร์ให้เด็กอายุระหว่าง 12- 18 ปี ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงไปบ้างแล้ว (ผมไม่มีตัวเลขว่าฉีดไปแล้วกี่ราย) เด็กที่ฉีดไปทั้งหมด พบมีผลข้างเคียงที่รุนแรง 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้องมีโรคอ้วนเป็นปัจจัยร่วม และขณะนี้ได้รับการรักษาจนปลอดภัยแล้วครับ 7. ขณะนี้มีวัคซีนสำหรับเด็กที่อย.อนุญาตให้ใช้คือไฟเซอร์และโมเดิร์นนา ครับ สำหรับผู้ปกครองที่กังวลใจ ไม่อยากให้ลูกหลานฉีดวัคซีนในกลุ่ม mRNA สามารถเลือกไปใช้วัคซีนกลุ่มเชื้อตาย คือ Sinopharm ที่บริจาคให้โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ครับ 8. โครงการฉีด Sinopharm ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชื่อว่า "โครงการ VACC2 School" เป็นการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 10 - 18 ปี โดยถือว่าเป็นกลุ่มทดลองเพื่อการศึกษาและติดตามผลของวัคซีน ซึ่งโครงการคาดว่าจะสามารถทำให้เด็กๆกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ก่อนโรงเรียนจะเปิดภาคเรียนใหม่ครับ 9. อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในเด็กนั้น ศบค. เน้นย้ำว่าไม่ใช่การบังคับ เด็กๆที่ไม่อยากฉีดก็สามารถเลือกที่จะไม่ฉีดได้ และไม่เกี่ยวข้องกับการกลับเข้าชั้นเรียน หมายความว่า ถึงไม่ฉีดก็ยังกลับไปเรียนได้ตามปกติ แต่อาจจะมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มเด็กๆที่ฉีดวัคซีนครับ 10. อย่างไรก็ตาม วัคซีนไม่ได้ทำให้เด็กๆไม่ติดโควิด แต่จะช่วยลดความรุนแรงลง ถ้าเด็กๆมีการติดเชื้อ และที่สำคัญ ถึงฉีดวัคซีนไปแล้ว เด็กๆก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่เหมือนเดิมครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก Pongsakorn Chindawatana