เขตบางขุนเทียน เป็นพื้นที่ติดอ่าวไทยตอนบน ซึ่งประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล จากการสำรวจเบื้องต้นพบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนไม่ต่ำกว่า 10 เมตรต่อปี
กรุงเทพมหานคร ได้วางแนวทางแก้ปัญหาโดยทำแนวกันเขื่อนถาวรป้องกันการกัดเซาะ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งในช่วงรอ หนึ่งในวัสดุที่จะใช้เบื้องต้น คือเสาไฟฟ้า จากนโยบายเมืองไร้สายของกทม. ที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดิน เสาไฟที่รื้อถอนจึงถูกนำมาใช้ในการนี้
กทม.ได้ประสานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ผอ.ศูนย์วิจัยวิศวกรรมและการจัดการน้ำและคณะ เข้าร่วมศึกษาแก้ปัญหาในครั้งนี้
ระยะแรก เสาไฟที่นำมาใช้มีขนาด 25x25 เซนติเมตร ยาว 12 เมตร 800 ต้น
ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ผอ.ศูนย์วิจัยวิศวกรรมและการจัดการน้ำ (วารี) มจธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านชลศาสตร์ กล่าวว่า คลื่นที่กระทบชายฝั่งบางขุนเทียนได้อิทธิพลจากปากอ่าวไทย ส่งผลให้คลื่นที่เข้ามาทำมุมเฉียงกับชายฝั่ง
จึงออกแบบปักเสาไฟให้เฉียง เพื่อรับคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง ผังปักเสาไฟฟ้าเป็นสามเหลี่ยมขนาด 1.5 เมตร x 1.5 เมตร ตอกตลอดระยะทาง 4,700 เมตร เท่ากับขอบเขตชายฝั่งกทม.
และจากการที่จำนวนเสาไฟที่มีขนาดเหมาะสมที่กทม.ได้รับมานั้นมีจำกัด จึงคัดเลือกเสาขนาด 25x25 เซนติเมตร ยาว 12 เมตร 10 ต้นต่อหนึ่งชุด มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสา 50 เซนติเมตร
ตำแหน่งที่กำหนดแนวตอกเสาไฟ จะอยู่ด้านนอกชายฝั่ง ห่างจากแนวเสาไม้ไผ่ที่มีอยู่แล้ว และในการสร้างแนวป้องกัน ยอดเสาไฟต้องสูงไม่ต่ำกว่า 4.5 เมตร เพื่อให้เรือเล็กมองเห็นยอดเสาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด
โครงการนี้จะทำให้คลื่นที่มีความยาวน้อยกว่า 3 เมตร ที่เข้าปะทะกับเสาไฟฟ้ามีความสูงคลื่นเล็กลง
เนื่องจากคลื่นที่มีความยาวน้อยถึงปานกลางนี้ เมื่อเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในกลุ่มเสาไฟฟ้าที่ตอกเป็นผังรูปสามเหลี่ยม จะสลายพลังงานคลื่นภายในกลุ่มเสาไฟได้บางส่วน ก่อนที่คลื่นจะเคลื่อนที่ไปยังแนวเสาไม้ไผ่ที่อยู่ด้านในใกล้ฝั่งต่อไป จึงส่งผลต่อพลังงานของคลื่นที่เข้ามาปะทะชายฝั่งลดลง ช่วยชะลอปัญหากัดเซาะได้
ศ.ดร.ชัยยุทธเผยยังมีโครงการที่ศึกษาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกันคือ สร้างธรณีกั้นตะกอนกลับ เมื่อกระแสน้ำชายฝั่งพัดตะกอนเข้ามา หากทำธรณียกระดับให้สูงจากพื้นดินโคลนประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเก็บตะกอนไว้ เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยชะลอปัญหากัดเซาะและเพิ่มฝั่งทะเล เมื่อตะกอนเริ่มกลับสู่ชายฝั่งจึงขยายพื้นที่ติดตั้งธรณีเป็นระยะ เมื่อมีพื้นที่ชายฝั่งเพิ่มขึ้น ต้นไม้จะมีพื้นที่ขยายพันธุ์ช่วยรักษาหน้าดินด้วย
ประโยชน์ที่ได้คือ นำเสาไฟมาประยุกต์ป้องกัน-บรรเทาปัญหา อย่างไรก็ตาม ต้องวางแผนระยะยาว คำนึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งยังต้องทำควบคู่กับการฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลอย่างยั่งยืน