ด้วยสมองและสองมือ
อีกผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ที่ได้พัฒนาความรู้สร้างโปรแกรมเพื่อเป็นตัวช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ กับผลงานพัฒนาโปรแกรมตรวจจับใบหน้าผู้ต้องขัง
จากปัญหาที่นายเผด็จ หริ่งรอด ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ เปิดเผยว่า เรือนจำกลางคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมพิเศษ ทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังคดียาเสพติดให้โทษ จัดการศึกษาอบรมพัฒนาปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรม พร้อมทั้งฝึกวิชาชีพแก่ผู้ต้องขังโดยวิธีชุมชนบำบัด และดำเนินการทางทัณฑปฏิบัติควบคู่ไปกับการจัดสวัสดิการ ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 จนถึงปัจจุบัน
พบว่าเรือนจำกลางคลองไผ่มีจำนวนผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องขัง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แต่จำนวนเจ้าหน้าที่มีเท่าเดิมคือ 150 คน ซึ่งมีผู้ต้องขังจำนวนกว่า 4,870 คน โดยกิจกรรมหนึ่งที่ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องปฏิบัติเป็นประจำคือ การนับจำนวนผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าผู้ต้องขังยังอยู่ครบ ไม่ได้ไปแอบอยู่ตามที่ต่างๆ หรือแอบไปทำร้ายร่างกายตนเอง และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้ต้องขังที่ทางเรือนจำได้วางแผนการดำเนินงานเอาไว้
เผด็จ หริ่งรอด
โดยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจนับจำนวน 5 รอบต่อวัน ทำให้เรือนจำจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วย จึงได้หารือร่วมกับสถาบันสหสรรพศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในการจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำเข้ามาช่วยในการตรวจนับจำนวนผู้ต้องขังดังกล่าว
อาจารย์ปริญญา กิตติสุทธิ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนและดิจิทัล สถาบันสหสรรพศาสตร์ มทร.อีสาน หนึ่งในทีมผู้พัฒนาโปรแกรม เปิดเผยว่า ชุดโปรแกรมตรวจจับใบหน้าเพื่อนับจำนวนผู้ต้องขังที่พัฒนาขึ้นนั้นเป็นความร่วมมือจากทีมอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง สถาบันสหสรรพศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษา จากสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาโปรแกรมตรวจจับใบหน้าฯ เพื่อใช้ตรวจนับจำนวนผู้ต้องขัง ตามความประสงค์ของเรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีผู้ต้องขังจำนวนกว่า 4,870 คนและจะทำการตรวจนับจำนวน 5 รอบต่อวัน
สำหรับระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อตรวจนับจำนวนผู้ต้องขังนี้ ใช้โปรแกรม Python โดยใช้ Face Detection Algorithm ในการเปรียบเทียบหน้าต้นฉบับ ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับสูงในการพัฒนาเพื่อตรวจจับใบหน้าของบุคคล โดยโปรแกรมสามารถแยกบุคคลได้อย่างแม่นยำและสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ สามารถกำหนดช่วงเวลาการทำงานได้พร้อมทั้งออกรายงานการแสดงผลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทางเรือนจำในการตรวจนับจำนวนผู้ต้องขังในแต่ละวันซึ่งมีจำนวนมากและมีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังจำนวนจำกัด
อ.ปริญญา กิตติสุทธิ์
ซึ่งในระหว่างการทดสอบและปรับปรุงระบบ ได้ระดมความคิดร่วมกับ ผศ.ดร.จิระยุทธ สืบสุข คณบดีสถาบันสหสรรพศาสตร์ ดร.ธนนันต์ อยู่หว่าง ผู้ช่วยอธิการบดี เหล่าคณาจารย์วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และคุณเผด็จ หริ่งรอ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ พร้อมเข้าตรวจสอบการใช้งานและร่วมทดสอบระบบการทำงานเพื่อให้สมบูรณ์แบบที่สุด โดยมีอาจารย์ประกาย นาดี เป็นตัวแทนส่งมอบชุดโปรแกรมตรวจจับใบหน้าเพื่อนับจำนวนผู้ต้องขัง ให้กับทางเรือนจำกลางคลองไผ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับหน่วยงานใดที่สนใจชุดโปรแกรมตรวจจับใบหน้าฯ หรือต้องการเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนการทำงานในหน่วยงานของท่าน สามารถประสานงานมาได้ที่ อ.ปริญญา โทรศัพท์ 089-071-4592