แต่ยังคงต้องรออย.ปรับทะเบียนวัคซีน ซิโนแวค และซิโนฟาร์มใช้ในเด็ก เป็นทางเลือกผู้ปกครองกังวลวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีรายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งไทยพบเพียง 1 ราย และรักษาหายแล้ว ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 12-17 ปี จำนวน 4.5 ล้านคนได้วันที่ 4 ต.ค.64 ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจด้วย 17 ก.ย.2564 ที่กระทรวงวาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ที่จะเน้นกลุ่มเปิดเรียนในเดือน พ.ย. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 4.5 ล้านคน มีทั้งโรงเรียนในสังกัดภาครัฐและเอกชนหลักๆ เป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถาบันการศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนประเภทอื่นที่มีคนที่อยู่ในวัยนี้ 12-17 ปี โดยจะสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้วันที่ 4 ต.ค.64 ซึ่งการประสานงานจะผ่านไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีโรงเรียนในสังกัด โดยใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ซึ่งจะทราบข้อมูลดีอยู่แล้ว ทำไม่ได้ให้โรงเรียนประสานไปยังผู้ปกครองเพื่อให้ทราบแผนงานการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน โดยต้องมีการให้ข้อมูลข้อดี ข้อเสียของวัคซีน ก่อนกรอกข้อมูลว่ายินยอมหรือไม่ยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน แล้วส่งกลับมายังโรงเรียน ทั้งนี้เมื่อฉีดแล้วจะมีการลงข้อมูลในฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข มีการติดตามการฉีดและการเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วัน โดยระยะแรก เป็นวัคซีน mRNAของไฟเซอร์ ส่วนระยะถัดไปอาจจะมีวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม หากผู้ปกครองยังไม่อยากให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA ก็สามารถรอวัคซีนเชื้อตายได้ นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองมีความกังวลภาวะกล้่ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA นั้นจากข้อมูลในต่างประเทศพบอาการไม่พึงประสงค์ 16 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนวัคซีนไฟเซอร์มาตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตอนนี้ก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ แต่ว่ามีการตรวจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย ตอนนี้รักษาหายแล้ว จึงย้ำว่าภาวะนี้สามารถรักษาหายได้ โดยเด็กอาจจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เป็นต้น ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจจะให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย ส่วนกรณีจะนำวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 12 ล้านโดสมาฉีดให้เด็กนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริงแต่ต้องรอการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมของวัคซีนกลุ่มนี้ว่าสามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องทบทวนข้อมูลนี้ก่อน โดยเบื้องต้นจะไม่มีการใช้สูตรไขว้ในเด็ก แต่จะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม และจะใช้ในล็อตเดิม 12 ล้านโดส น่าจะเพียงพอ จากการพิจารณาในกลุ่มเป้าหมาย 4.5 ล้านโดส หากฉีดไฟเซอร์ไปแล้วก็จะเหลือประมาณหนึ่ง เช่น อาจเหลือ 1-2 ล้านคน ซึ่งก็จะใช้ได้ และจะลดข้อกังวลปัญหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่เหมือนวัคซีนชนิด mRNA แต่ทั้งนี้ต้องรอทาง อย.พิจารณาปรับทะเบียนเพิ่มเติมของวัคซีนชนิดเชื้อตายก่อน จึงจะสามารถใช้ได้ ทั้งนี้หากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย เพื่อลดข้อกังวลภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่อาจเกิดขึ้นวัคซีนชนิด mRNA ก็ต้องรอ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกผลการศึกษาในเด็ก ที่ทางอย.กำลังทบทวนอยู่ ส่วนกรณีวัคซีนซิโนฟาร์ม จะมีส่วนหนึ่งที่มีการรับเด็กนักเรียนแต่เท่าที่ทราบเป็นการศึกษาวิจัย ก็ต้องติดตามข้อมูล แต่โดยสรุปขณะนี้ในส่วนของภาครัฐจัดบริการวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปีขึ้นไป คือ วัคซีนไฟเซอร์ โดยการดำเนินการจะมีเวลา 1 เดือนก่อนโรงเรียนจะเปิด ซึ่งจะให้บริการพร้อมกันทุกระดับชั้น ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์จะมาถึงประมาณปลายเดือนก.ย. หรือประมาณ 29 ก.ย.2564 ดังนั้น จะใช้เวลาตรวจคุณภาพความปลอดภัย 3-4 วัน และจะส่งไปยังพื้นที่ เพื่อให้บริการในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ถึง 9 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งหากเร่งฉีดเข็ม 1 ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เราจะได้ฉีดเข็มที่2 ได้ทันก่อนเปิดเรียน หรืออาจเปิดไปนิดหนึ่งก็ยังพอไหว ทั้งนี้ยืนยันว่าการจัดบริการวัคซีนในเด็ก จะเป็นไปตามความสมัครใจ