ไม่มีนักบินอวกาศตัวจริง มีแต่นักบินอวกาศสมัครเล่น โดยเป็นยานอัตโนมัติ มีการบังคับจากศูนย์ควบคุมที่โลก และถือเป็นเที่ยวบินที่ 128 ของจรวดฟอลคอน 9 ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ Inspiration 4 กับการส่งพลเรือน 4 คน สู่วงโคจรรอบโลกโดยภาคเอกชน SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐฯ ได้เริ่มก้าวใหม่ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศด้วยเที่ยวบินอวกาศรอบโลกของภาคเอกชนโดยมีนักบินอวกาศที่เป็นพลเรือน ภารกิจอวกาศครั้งนี้มีชื่อว่า “Inspiration4” เริ่มต้นเมื่อจรวดฟอลคอน 9 จุดจรวดทะยานขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดหมายเลข 39A ในศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.2021 เวลา 07:02 น. (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย) โดยมียาน Crew Dragon บรรทุกนักบินอวกาศ 4 คน ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่วงโคจรรอบโลกนาน 5 ชั่วโมง #เที่ยวบินอวกาศInspiration4 ที่จุดประกายความหวังด้านอวกาศ เมื่อ 10 เดือนก่อนหน้านี้ แจเรด ไอแซกแมน (Jared Isaacman) เศรษฐีและนักธุรกิจชาวสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าเขาจะเข้าร่วมเที่ยวบินอวกาศรูปแบบใหม่ที่ไม่มีนักบินอวกาศอาชีพที่สังกัดองค์การอวกาศเลย แต่เที่ยวบินอวกาศดังกล่าวจะเป็นเที่ยวบินโดยภาคเอกชนที่มีนักบินอวกาศเป็นพลเรือน และได้ระดมทุนพร้อมสร้างความตระหนักในสังคมถึงเที่ยวบินอวกาศครั้งนี้ที่โรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูด (St. Jude Children's Research Hospital) ในรัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ จนกระทั่งมีภารกิจ Inspiration4 ขึ้นมา ไอแซกแมนได้ตกลงว่าจ้างบริษัท SpaceX ให้ดูแลเที่ยวบินอวกาศครั้งนี้ โดยใช้ยาน Crew Dragon พานักบินอวกาศในเที่ยวบินขึ้นสู่อวกาศ ไม่ระบุว่าใช้งบประมาณเท่าใดในการว่าจ้างนี้ และไอแซกแมนใช้ “ตำแหน่งนักบินอวกาศ” ที่เหลืออีก 3 คน (จากที่มีตำแหน่งนักบินอวกาศแล้ว 1 ตำแหน่งของตัวไอแซกแมนเอง) ช่วยเสริมจุดประสงค์ของภารกิจ Inspiration4 เพื่อจุดประกายด้านอวกาศให้แก่มนุษยชาติ - ตำแหน่งนักบินอวกาศที่ 2 : ไอแซกแมนตั้งใจจะให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานด่านหน้าในการรักษาพยาบาล และตำแหน่งนี้ตกเป็นของเฮลี อาร์เซอโน (Hayley Arceneaux) อดีตผู้ป่วยที่ผ่านการรักษารักษาโรคมะเร็งและผู้ช่วยแพทย์ในโรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูด เธอเป็นชาวสหรัฐฯ ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ขึ้นสู่อวกาศและเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่ใช้อวัยวะเทียมระหว่างปฏิบัติภารกิจ (เธอมีโลหะดามกระดูกขาจากการผ่าตัดระหว่างที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง) - ตำแหน่งนักบินอวกาศที่ 3 : เป็นตำแหน่งสำหรับผู้ร่วมประมูลเพื่อระดมทุนแก่โรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูด โดยจะจับสลากผู้ที่จะมารับตำแหน่งนักบินอวกาศตำแหน่งนี้จากรายชื่อผู้ร่วมระดมทุนบริจาค ซึ่งผู้ที่ได้ตำแหน่งนี้คือ คริสโตเฟอร์ เซมโบรสกี (Christopher Sembroski) วิศวกรข้อมูลชาวสหรัฐฯ ที่ถึงแม้สลากที่จับได้จะเป็นชื่อเพื่อนของเซมโบรสกี แต่เพื่อนคนนี้มอบตำแหน่งนักบินอวกาศให้เซมโบรสกีแทน - ตำแหน่งนักบินอวกาศที่ 4 : เป็นตำแหน่งที่ต้องแย่งชิงกันผ่านการประกวด ที่ให้เหล่านักลงทุนทั่วสหรัฐฯ เปิดร้านค้าแล้วนำรายได้มาบริจาคแก่โรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูด ผู้ร่วมแข่งขันจะต้องส่งวิดีโอโปรโมทร้านค้าของตนด้วย ซึ่งผู้ชนะการแข่งขันและได้รับตำแหน่งนักบินอวกาศตำแหน่งนี้ไปคือ เซียน พร็อกเตอร์ (Sian Proctor) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐฯ ที่ชนะการแข่งขันจากการเปิดขายผลงานศิลปะและบทกวีของเธอ สำหรับ เซียน พร็อกเตอร์ เธอถือว่าความฝันของเธอเป็นจริงในเที่ยวบินอวกาศภาคเอกชนครั้งนี้ พ่อของพร็อกเตอร์เคยร่วมทำงานในโครงการอะพอลโลขององค์การนาซา และเธอใฝ่ฝันที่จะเป็นนักบินอวกาศมาโดยตลอด พร็อกเตอร์เคยสมัครเข้าเป็นนักบินอวกาศขององค์การนาซาในปี ค.ศ.1999 แต่กลับตกรอบการคัดเลือกรอบสุดท้าย จนกระทั่งอีกกว่า 20 ปีถัดมา เธอจึงสามารถไล่ตามความฝันในการเป็นนักบินอวกาศได้สำเร็จ เที่ยวบินอวกาศ Inspiration4 ยังเป็นความหวังของบริษัท SpaceX ด้วยเช่นกัน ที่มุ่งหวังว่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ด้านอวกาศที่บุคคลทั่วไปก็สามารถเดินทางไปสู่อวกาศได้ #เหล่านักบินที่ขึ้นสู่อวกาศไปกับยาน CrewDragon กลุ่มนักบินอวกาศที่ประกอบด้วยไอแซกแมน อาร์เซอโน พร็อกเตอร์ และเซมโบรสกี เป็นกลุ่มนักบินอวกาศกลุ่มที่ 4 ที่ขึ้นสู่อวกาศไปกับยาน Crew Dragon ของบริษัท SpaceX เพื่อบรรทุกนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ทั้งขาไปและขากลับ โดยไอแซกแมนมีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจ พร็อกเตอร์รับหน้าที่เป็นนักบิน ส่วนอาร์เซอโนกับเซมโบรสกีรับหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในภารกิจ ยาน Crew Dragon เป็นยานที่ออกแบบให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ ดังนั้น พร็อกเตอร์และเหล่านักบินอวกาศจึงไม่ต้องควบคุมการบินระหว่างเที่ยวบินมากนัก ซึ่งการควบคุมจัดการเที่ยวบินอวกาศเป็นหน้าที่ของทีมงาน SpaceX ในศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน (แต่นักบินอวกาศเหล่านี้ก็ต้องรับการฝึกอบรมการควบคุมยานหากเกิดกรณีฉุกเฉินระหว่างภารกิจ) ก่อนหน้าเที่ยวบินนี้ องค์การนาซาเลือกยาน Crew Dragon เป็นยานขนส่งและบรรทุกนักบินอวกาศสำหรับเดินทางไป-กลับสถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากที่องค์การนาซาต้องอาศัยยานโซยุซของรัสเซียมาเป็นเวลาราว 9 ปี โดยยาน Crew Dragon เคยพานักบินอวกาศของนาซาขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ได้แก่ ภารกิจ Demo-2 ในเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม ค.ศ.2020 และภารกิจ Crew-1 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 - พฤษภาคม ค.ศ.2021 ยาน Crew Dragon ลำที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในเที่ยวบิน Inspiration4 มีชื่อว่า “รีซิเลียนส์” (Resilience) โคจรรอบโลกที่ระดับความสูงประมาณ 575 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับวงโคจรของสถานีอวกาศนานาชาติและกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในเที่ยวบินอวกาศ Inspiration4 ครั้งนี้ ยาน Crew Dragon “รีซีเลียนส์” ยังผ่านการปรับปรุงให้มีโดมกระจก แบบเดียวกับโดมกระจกในโมดูล “กูโปลา” (Cupola) ในสถานีอวกาศนานาชาติ เพียงแต่จะมีขนาดเล็กกว่าซึ่งสามารถสังเกตเห็นทิวทัศน์ของโลกอันสวยงาม และสามารถสังเกตดวงอาทิตย์ขึ้น-ดวงอาทิตย์ตกอย่างละ 15 ครั้งในรอบวัน ตามแผนภารกิจของเที่ยวบินอวกาศ นักบินอวกาศจะใช้เวลาอยู่ในยาน Crew Dragon “รีซีเลียนส์” นานประมาณ 3 วัน ก่อนที่จะกลับลงสู่พื้นโลกในวันเสาร์ที่ 18 หรือวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน ทั้งนี้ ไอแซกแมนกล่าวว่ายาน Crew Dragon มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศได้นานที่สุดประมาณ 1 สัปดาห์ #การฝึกอบรมสำหรับเที่ยวบินอวกาศครั้งนี้ นักบินอวกาศกลุ่มนี้ต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นหลายชั่วโมง ประกอบด้วย การใช้ตัวจำลองยาน Crew Dragon ฝึกการเอาตัวรอดบนภูเขา และฝึกบินในเครื่องบินรบหลายเที่ยว ทางตัวแทนของบริษัท SpaceX ให้ข้อมูลว่านักบินอวกาศจะได้รับแรงกระทำระหว่างเที่ยวบินฝึกฝนมากถึง 8 เท่าของแรงโน้มถ่วงโลก และยังต้องผ่านการฝึกอบรมรูปแบบต่างๆ มากกว่า 90 แบบ รวมถึงฝึกฝนการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลากว่า 30 ชั่วโมงติดต่อกัน นอกเหนือไปจากการฝึกอบรมการใช้ยาน Crew Dragon แล้ว ยังซ้อมการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในอวกาศระหว่างเที่ยวบิน อย่างการตรวจร่างกายด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในอวกาศ การวัดระดับออกซิเจนในเลือด ชีพจรการหายใจและการเต้นของหัวใจ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะความโน้มถ่วงต่ำในอวกาศต่อร่างกายมนุษย์ โดยปกติแล้วนักบินอวกาศที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องมีสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้น ภารกิจ Inspiration4 จึงเป็นโอกาสในการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลทั่วไปเมื่อต้องไปอาศัยอยู่ในอวกาศ อาจช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการแพทย์ได้ #เที่ยวบินของจรวดฟอลคอน9 ภารกิจ Inspiration4 เป็นเที่ยวบินครั้งที่ 128 ของจรวดฟัลคอน 9 ถือเป็นหนึ่งในจรวดรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท SpaceX ซึ่งเป็นจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกส่วน เพื่อให้ประหยัดงบประมาณและทำให้โอกาสในการเดินทางสู่อวกาศสามารถเข้าถึงผู้คนมากขึ้น ส่วนฐานปล่อยจรวดนั้นยังเป็นฐานเดียวกันกับที่ใช้ปล่อยจรวดในโครงการอะพอลโลและยานขนส่งอวกาศอื่น ๆ ของนาซา #การรับจรวดและยานอวกาศในขากลับสู่พื้นโลก หลังจากการปล่อยจรวดฟัลคอน 9 ไปแล้วเกือบ 10 นาที ท่อนจรวดฟัลคอน 9 ที่แยกตัวจากยาน Crew Dragon ได้ร่อนลงสู่ลานจอดบนเรือที่มีชื่อว่า "Just Read the Instructions" เป็นเรือควบคุมทางไกลที่มีขนาดประมาณเท่าสนามฟุตบอล ถือเป็นการลงจอดที่สำเร็จเป็นครั้งที่ 92 ของบริษัท SpaceX ก่อนที่จรวดฟัลคอน 9 จะถูกนำไปใช้ใหม่และเตรียมพร้อมสำหรับเที่ยวบินต่อไป ที่มาของข้อมูล https://www.space.com/spacex-launches-inspiration4... แปลและเรียบเรียง พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร."