หลังจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ปิดปรับปรุงนานเกือบ 3 ปี ล่าสุดกรมศิลปากรเตรียมเปิดในวันพิพิธภัณฑ์ไทย 19 กันยายนนี้ พบโฉมใหม่ของการจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี กว่า 260 รายการ รับชมผ่านระบบออนไลน์เพจกรมศิลปากร นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันพิพิธภัณฑ์ไทย 19 กันยายน 2564 กรมศิลปากรกำหนดเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ในรูปแบบใหม่ผ่านทางสื่อออนไลน์ได้ทางเฟซบุ๊กเพจกรมศิลปากร และ youtube กรมศิลปากร ตามแบบชีวิตวิถีใหม่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายหลังจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2564 เพื่อปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในใหม่ โดยจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยทวารวดี จำนวนกว่า 260 รายการ อาทิ ธรรมจักร พระพุทธรูปทวารวดี จารึกวัดพระงาม เนื่องจากเมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองในสมัยทวารวดี และเป็นเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่ทางพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง – ท่าจีน จากทำเลที่ตั้งของเมืองนครปฐมโบราณที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งเป็นบ้านเมือง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เมืองนครปฐมมีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา โดยมีการพบหลักฐานโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รวบรวมจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ การรวบรวมโบราณวัตถุที่พบที่เมืองนครปฐมครั้งใหญ่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2438 จากความสนพระทัยในด้านประวัติศาสตร์ - โบราณคดีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น โดยโบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรกถูกนำมาเก็บรักษาไว้บริเวณระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ พ.ศ. 2454 ได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุดังกล่าวเข้าไปไว้ในวิหารด้านตรงข้ามพระอุโบสถ เรียกว่า “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน” ต่อมากรมศิลปากรใช้พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์สร้างอาคารถาวรและเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุที่ได้จากการรวบรวมในครั้งนั้นมาจัดแสดงเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” ตลอดระยะเวลาในการให้บริการประชาชนมากว่า 50 ปี ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ได้มีการปรับปรุงการจัดแสดงหลายครั้ง ครั้งล่าสุด พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ประกอบกับการรองรับโบราณวัตถุที่ค้นพบจากการดำเนินงานทางด้านโบราณคดีในเมืองนครปฐมที่พบหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ๆ มากมาย จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ขึ้น ดังนั้น กรมศิลปากรหวังว่าการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปกรรมของไทย อีกทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการศึกษา “ทวารวดี” ในเมืองนครปฐมโบราณ อันเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในทางวิชาการต่อไป