เนื่องในวันโอโซนโลก 16 กันยายน 2564 สหประชาชาติ โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) และ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เปิดตัวการประกวดออกแบบศิลปะเพื่อปกป้องชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศ ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Ozone2Climate Art Contest) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ภาพถ่าย, ภาพวาด และกราฟฟิกดีไซน์ เพื่อเตือนชาวโลกให้ตระหนักถึงปัญหาชั้นโอโซนในบรรยากาศที่ถูกทำลาย และภัยโลกร้อน ซึ่งนำไปสู่วิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ย้ำเชิญชวนส่งผลงานออกแบบศิลปะซึ่งเปิดรับสมัครให้ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2021 - 31 มี.ค. 2022 โดยมีบุคคลชั้นนำจากสหประชาชาติและเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมร่วมงานเปิดตัว
นางเมกูมิ เซกิ เลขาธิการ สำนักงานโอโซน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า นานาประเทศได้ร่วมฉลองความสำเร็จของพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ในวันโอโซนโลกซึ่งตรงกับวันที่ 16 กันยายนของทุกปี ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พิธีสารมอนทรีออล ได้เลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ได้ถึง 99% โดยอีก 1% ที่ยังมีการใช้เหลืออยู่เป็นสารจำพวก HCFCs ซึ่งมีปริมาณการใช้ทั่วโลกเหลือเพียง 12,000 ตันเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูของชั้นโอโซน ซึ่งคาดการณ์ว่าหลุมโอโซนที่ทวีปแอนตาร์ติกาหรือขั้วโลกใต้ จะกลับมามีสภาพดังเดิมในอีก 40 ปีข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม พิธีสารมอนทรีออลยังมีภารกิจที่รออยู่ข้างหน้าตามพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี (Kigali Amendment) เพื่อลดการใช้สาร HFC โดยการดำเนินการดังกล่าวภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จะหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.4 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษหรือปี 2100 ทั้งนี้ เพื่อส่งผลดีต่อสภาพภูมิอากาศโลก วันโอโซนโลกปี 2021 นี้จึงมีธีมว่า พิธีสารมอนทรีออล ช่วยให้โลกของเรา อาหาร และวัคซีนของเราเย็น (Montreal Protocol : Keeping Us, Our Food and Vaccines Cool) ซึ่ง UNEP ได้สนับสนุนการประกวดนี้อย่างเต็มที่
นายเจมส์ เอส เคอร์ลิน หัวหน้าฝ่าย OzonAction โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า คำว่า Ozone2Climate สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโอโซนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในด้านต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก และภาคประชาชน ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางเลือกที่ปลอดภัย เพื่อที่จะบรรลุ 2 เป้าหมายพร้อมกันคือ ทั้งการรักษาชั้นโอโซนในบรรยากาศและรักษาสภาพภูมิอากาศโลกที่มนุษย์เราทุกคนอยู่อาศัยร่วมกัน การตัดสินใจของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลียนแปลงไปสู่ตลาด Ozone2Climate ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นานาประเทศในภูมิภาคจะได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบศิลปะเพื่อปกป้องชั้นโอโซนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตื่นตัวและร่วมกันแก้ไขปัญหาในเรื่องของโลกร่วมกัน
นางริกะ โยโรสึ หัวหน้าสำนักงานองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพ กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดออกแบบศิลปะเรื่องการปกป้องชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศ ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ถือเป็นโอกาสอันดีในการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นภารกิจหลักของ UNESCO อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ คิดวิเคราะห์และใช้ทักษะการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ โดย UNESCO จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประกวดนี้ผ่านทางเครื่อข่ายของหน่วยงานในภูมิภาค พร้อมทั้งได้เชิญชวนให้เยาวขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุภาพสตรีเข้าร่วมการประกวดดังกล่าว
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในการส่งเสริมเยาวชนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชั้นโอโซนและสภาวะภูมิอากาศ ว่า จากข้อมูลสภาพอากาศทั่วโลกช่วงหลายสิบปี ทางบีบีซี ได้นำมาวิเคราะห์พบว่า โลกในปีนี้มีวันที่อุณหภูมิสูงจัดเกิน 50 อาศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของ 40 ปีก่อน เดิมช่วงปี 1980 -2009 มีวันร้อนจัดเกิน 50 องศา จำนวน 14 วันต่อปี แต่ระหว่างปี 2010- 2019 วันร้อนจัดได้เพิ่มเป็น 26 วันต่อปีแล้ว ปัจจุบันจะเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาตินับวันจะรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อย เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า คลื่นความร้อน ซึ่งไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อมเท่านั้น โดยเฉพาะคลื่นความร้อนยังก่อปัญหาตามมา เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อาคารบ้านเรือน ถนน ระบบไฟฟ้าเป็นต้น ดังนั้น ภาคการศึกษามีส่วนสำคัญยิ่งในการเผยแพร่ความรู้เปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนถึงคนรุ่นใหม่ระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและการมีส่วนร่วมที่จะแก้ไขปัญหาชั้นโอโซน รวมทั้งเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกนั้นมีผลกระทบต่อเราทุกคน ที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้มีบทบาทส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและงานกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) โดยมุ่งด้านสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมโลกเป็นหนึ่งในประเด็นหลัก
การผนึกความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสหประชาชาติ จัดโครงการประกวด Asia Pacific Regional Ozone2Climate Art Contest จะเดินหน้าพร้อมภาคีพันธมิตรสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อขยายพลังสร้างสรรค์ด้านสิ่งแวดล้อมไปยังเยาวชนทั่วประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้สถาบันการศึกษาและสถาบันเทคโนโลยีในเอเชีย-แปซิฟิก ได้ตระหนักและเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารของภาครัฐ ตลอดจนช่วยกันชี้นำให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือกันในมาตรการแก้ปัญหาชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศโลก ตามพิธีสารมอนทรีออล และ Kigali Agreement
สำหรับธีมและประเภทของการจัดประกวดออกแบบศิลปะ Asia - Pacific Ozone2Climate Art Contest ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเชื่อมโยงกับธีมของวันโอโซนโลก 2021 ที่ว่า Montreal Protocol - Keeping Us, Our Food and Vaccines Cool หรือเชื่อมโยงกับความสำเร็จ ปฏิบัติการ หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการพิธีสารมอนทรีออล อย่างใดอย่างหนึ่ง การประกวด มี 3 ประเภท คือ 1. ภาพถ่าย (Photography) จากกล้อง ซึ่งไม่มีการตกแต่งภาพมากนัก 2. ภาพวาด (Drawing) วาดมือ หรือระบายสี หรืองานหัตถกรรม 2 มิติ หรือภาพวาดด้วยดิจิทัล 3. กราฟฟิคดีไซน์ (Graphic Design) ทั้งนี้สามารถสมัครเป็นบุคคลหรือทีมก็ได้ โดยมี 2 กลุ่มอายุ คือ 1) เยาวชน อายุไม่เกิน 15 ปี (นับถึงวันที่ 16 ก.ย.64) และ 2) ทั่วไป อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
นายอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงชื่อดังและนักทำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเป็น ทูตสันถวไมตรีของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNEP’s National Goodwill Ambassador for Thailand) กล่าวว่า ไลฟ์สไตล์การดำรงชีวิตประจำวันและสิ่งที่เราเลือกนั้นจะมีผลโดยตรงต่อการทำลายชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน ประโยชน์ของชั้นโอโซนช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UV-B) จากดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมบนโลกนี้ เมื่อเราตื่นมาดื่มน้ำเย็นๆจากตู้เย็น นั่งพักผ่อนในห้องแอร์เย็นฉ่ำ เราไปซื้ออาหารแช่เย็น/แช่แข็งจากซุปเปอร์มาร์เก็ต เรากำลังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี และใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซนและส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ ทำอย่างไรที่ทุกคนจะมีส่วนช่วยชั้นโอโซน...ทำได้ไม่ยาก นั่นคือ เลือกอุปกรณ์ทำความเย็นที่มีคุณภาพและใช้สารเคมีที่เป็นมิตรต่อชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศ ที่ประหยัดพลังงาน หมั่นดูแลและรักษาตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศให้มีสภาพดีและไม่ให้สารเหล่านี้รั่วไหลออกมา ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนเยาวชนและทุกผู้ที่สนใจ ส่งผลงานเข้าประกวด Asia-Pacific Regional Ozone2Climate Art Contest เพื่อแสดงไอเดียในการปกป้องชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศของโลกเรา
นายศิวกร มณีเฑียร นักศึกษาปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนรุ่นใหม่ผู้มีหัวใจรักษ์โลก เคยได้รางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคและรางวัลชมเชยระดับประเทศในกิจกรรมวันโอโซนสากล กล่าวถึง บทบาทของเยาวชนในการปกป้องชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศ โดยเปลี่ยนมาใช้สารทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่า การรักษาชั้นโอโซนนั้นไม่สามารถทำได้สำเร็จเพียงคน ๆ เดียว แต่จะต้องอาศัยพลังความร่วมมือของเราทุกคนในการฟื้นฟูโลก...เพื่อให้เราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
นางสาวอิซาเบล หลุยส์ รองผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิค กล่าวถึง ความเชื่อมโยงของชั้นโอโซนและปัญหาสภาพภูมิอากาศกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดย UNEP ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเยาวชนที่จะมีส่วนร่วมในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเครื่องเย็นและเครื่องปรับอากาศในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญภายใต้พิธีสารมอนทรีออล และได้แสดงความขอบคุณต่อหน่วยอนุรัษ์ชั้นโอโซนของแต่ละประเทศสำหรับการทำงานอย่างทุ่มเทตลอดหลายปีที่ผ่านมา และขอให้มีความสุขในวันโอโซนโลก
ผู้สนใจ ดูรายละเอียดการสมัครและการประกวดได้ที่: www.ozone2climate.org; Email:[email protected]