ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล วันที่ 9 กันยายน 1971 คือวันที่อัลบั้ม Imagine วางจำหน่ายเป็นวันแรก หลังจากนั้นเพลงนี้ถูกเผยแพร่ มันก็กลายเป็นเพลงธีมของการเรียกร้องสันติภาพมาจนถึงวันนี้ และเมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ก็มีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศ ด้วยการฉายเนื้อเพลงท่อนที่ว่า “Imagine all the people living life in peace” ลงบนตัวสถานที่สำคัญ ตั้งแต่มหาวิหารเซนต์พอลในกรุงลอนดอน ไปจนถึงตึกไทม์สแควร์สกลางกรุงนิวยอร์ก นอกจากนั้นก็ยังมีกรุงโตเกียว, กรุงเบอร์ลิน และเมืองลิเวอร์พูล-บ้านเกิดของเขา เนื่องในวาระครบ 50 ปีของเพลงและอัลบั้มชุดนี้ ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ย้อนรำลึกถึงเพลงนี้กันสักเล็กน้อย บางคนคงไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์ที่แตกหน่อออกมาเป็นเพลงอมตะเพลงนี้อยู่ในหนังสือชื่อ Grapefruit ของ โยโกะ โอโนะ เมื่อปี 1964 มีหลายข้อความในหนังสือเล่มนั้นส่งต่ออิทธิพลความคิดมาถึง เลนนอน โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “Imagine the clouds dripping, dig a hole in your garden to put them in.” (บท “Cloud Piece”), “Imagine letting a goldfish swim across the sky” (บท “Drinking Piece for Orchestra”) และ “Imagine one thousand suns in the sky at the same time.” (บท “Tunafish Sandwich Piece”) ซึ่ง เลนนอน ยอมรับภายหลังกับนิตยสาร เพลย์บอย เมื่อปี 1980 ว่า “มีหลายบทในหนังสือเล่มนั้นที่ใช้คำอย่าง ‘imagine this’ หรือ ‘imagine that’ เพลง ‘Imagine’ จะไม่เกิดขึ้นถ้าปราศจากเธอ เธอช่วยผมเยอะมากในส่วนเนื้อเพลง แต่ผมกลับไม่เป็นลูกผู้ชายพอที่จะให้เครดิทกับเธอในเรื่องนี้” เขาหมายถึงตอนแรกที่เพลงนี้ออกเผยแพร่ ซึ่งต่อมามีการเพิ่มชื่อ โยโกะ โอโนะ เป็นผู้ร่วมแต่งคำร้องแล้วในปี 2017 “ผมเห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่กล้าพอที่จะใส่ชื่อเธอลงไป เพลงนี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการใช้ชีวิตคู่กับ โยโกะ อันที่จริง ควรจะเป็น เลนนอน/โอโนะ เป็นคนแต่งเพลงนั้น เพราะเธอมีส่วนร่วมกับเพลงนั้นมากจริงๆ” ส่วน โอโนะ เองก็พูดถึงความมีส่วนร่วมของเธอไว้ในปี 1980 ว่า “ฉันกับ จอห์น เขามาจากตะวันตก ส่วนฉันมาจากตะวันออก แต่เรายังคงอยู่ด้วยกันได้ เรามีความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน และ ‘โลกทั้งใบก็จะกลายเป็นหนึ่งเดียวในท้ายสุด’ ก็เป็นความรู้สึกที่เราทุกคนควรจะเป็น การอยู่ร่วมกันของทุกสีผิว แล้วเราจะมีความสุขมากๆไปด้วยกัน” เธอขยายความคิดนี้ในหนังสือ Imagine ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อสามปีก่อนว่า ช่วงแรกที่เธอคบกับ เลนนอน ปฏิกิริยาของคนทั่วไปเป็นลบที่ “ผู้นำทางความคิดจาก จอห์น เลือกคู่ชีวิตเป็นสาวตะวันออกอย่างฉัน เราไม่เคยคิดว่าจะมีการเหยียดผิวมากขนาดนั้น ฉันบอกได้เลยว่ามันไม่ง่าย แต่มันทำให้เราได้เรียนรู้ เป็นประสบการณ์ที่ดี เรา-ทั้ง จอห์น กับฉัน-เจอะเจอกับเรื่องยากๆมากมาย แต่เราก็ผ่านเรื่องพวกนั้นมาด้วยอารมณ์ขันของเรา” โอโนะ ยังพูดถึงความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อเพลงนี้ ณ ขณะเวลานั้น “พวกเราชอบเพลงนี้ แต่เราก็ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นเพลงที่ทรงพลังไปทั่วโลกอย่างนี้ ด้วยความสัตย์จริง เราทำเพลงนี้ก็เพราะเราเชื่อมั่นในพลังของถ้อยคำ และมันสะท้อนความรู้สึกของเรา” จอห์น เลนนอน เขียนเพลงนี้เสร็จตอนต้นปี 1971 บันทึกเสียงเพลงนี้ในเดือนมิถุนายนที่สตูดิโอในบ้านของเขาที่ ทิทเทนเฮิร์สต์ พาร์ค และจบสมบูรณ์ในวันที่ 4 กรกฎาคม ก่อนจะปล่อยเป็นซิงเกิลอย่างเป็นทางการวันที่ 11 ตุลาคม ปีเดียวกันในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลกยกเว้นสหราชอาณาจักร-ที่ปล่อยตามมานานถึง 4 ปีหลังจากนั้น และถูกใช้เป็นเพลงหลักในการเรียกร้องสันติภาพเรื่อยมาจนทุกวันนี้ และถูกนำไปขับร้องใหม่อีกนับไม่ถ้วน แม้เจ้าตัวจะจากไปนานกว่าสี่ทศวรรษแล้วก็ตาม