เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 ก.ย. 64 ที่พล.ม.2 รอ.เขตพญาไท กรุงเทพฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังจุดจอด ฮ. สนามกีฬาเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เพื่อลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจ.ชัยนาท พร้อมตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือหลากและวางแผนป้องกันพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง โดยจุดแรกนายกฯ และคณะ เดินทางมายังสำนักงานชลประทานที่ 12 เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายสมบูรณ์ ศิริเวช ผวจ.ชัยนาท และตัวแทนหน่วยงานเข้าร่วมประชุม โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า การมาเยี่ยมเยียนในพื้นที่วันนี้เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินการนโยบายของรัฐบาลและการแก้ปัญหาอุทกภัย เป็นความห่วงใยของรัฐบาล ซึ่งวันนี้มีหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบที่จะแก้ปัญหาและเยียวยากันต่อไป ทั้งนี้หลายปีที่ผ่านมาเป็นบทเรียนให้กับเราอยู่แล้ว ตอนนี้เรามีสนทช.ควบคุมทั้งระบบและการใช้จ่าย แผนงบประมาณต่างๆ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งใต้ดินและบนดิน เกิดความทั่วถึงในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการลงพื้นที่จ.ชัยนาท ของนายกฯ ในครั้งนี้ โดยสารรถ Toyota Alphard ทะเบียน 1 ขณ 15122 กรุงเทพมหานคร สำหรับจังหวัดชัยนาท มีแผนงานและโครงการ ภายใต้แผนบริหารบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 54 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานที่ได้รับประโยชน์กว่า 92,000 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 2,948 ครัวเรือน พื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 8,000 ไร่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 8.8 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มแนวป้องกันตลิ่ง 1.95 กิโลเมตร ขณะเดียวกันจังหวัดชัยนาทยังได้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2564 โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564 / 65 จำนวน 34 โครงการ โดยหากดำเนินการเสร็จสิ้นจะสามารถเพิ่มความจุกักเก็บน้ำได้ 1.24 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 300 ไร่ และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 2610 ครัวเรือน