ให้มั่นใจวัคซีนไฟเซอร์ที่เลือก ยกงานวิจัยต่างชาติฉีดเด็กล้านคน พบผลข้างเคียงแค่ 60 ไม่มีอาการหนักและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ "พุธเช้า...ข่าวสพฐ." ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้แก่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี ครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาทุกสังกัด พร้อมทั้งแนวทางการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพื่อสื่อสารไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทาง OBEC Channel และสื่อออนไลน์ของ สพฐ. นายสุภัทรกล่าวว่า สองแนวทางเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียน แนวทางแรกคือแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 2 เข็ม ให้แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้แก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียนนักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน พร้อมตั้งเป้าหมายให้นักเรียนนักศึกษาทุกคน ทุกสังกัด จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน อีกส่วนคือแผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ โดยการเข้าร่วมเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1) เป็นโรงเรียนประจำ 2) เป็นไปตามความสมัครใจ และ 3) ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อีกทั้งจัดให้มีสถานแยกกักตัว และ Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการของ ศธ. และ สธ. รวมถึงมีการรายงานผลผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus ซึ่งในข​ณะนี้มีสถานศึกษา 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษา 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง ซึ่ง ศธ. จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม "สำหรับการฉีดวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้นักเรียนนักศึกษา อายุ 12-18 ปี ในต้นเดือนตุลาคมนี้ และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์) ส่วนการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 จะพิจารณาแยกตามข้อกำหนด มาตรการ และสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ต่อไป" ปลัด ศธ. กล่าว ด้านนายอัมพรกล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา จึงให้เด็กและครูมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนก่อนเป็นลำดับแรก ในส่วนนี้อยากให้ทุกคนมีความเชื่อและเข้าใจตรงกันว่า เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเราจะมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งครูจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร หากเราสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้วก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนมากขึ้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือทำอย่างไรให้นักเรียนได้ฉีดวัคซีนมากที่สุด ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ผู้ปกครองให้ความยินยอมและสมัครใจที่จะฉีด ซึ่งเราคาดหวังว่าหากนักเรียนรุ่นแรกได้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะสามารถเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนได้ และทยอยเปิดต่อไปเรื่อยๆ ตามพื้นที่ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ต้องการให้เด็กได้เรียนแบบ On Site โดยเร็ว สำหรับการฉีดวัคซีนในรอบแรกอาจจะมีผู้ประสงค์ต้องการฉีดเป็นจำนวนหนึ่ง แล้วในระยะต่อไปอาจจะมีผู้สมัครใจเพิ่มมากขึ้นได้ จึงต้องเตรียมแผนสองไว้รองรับเพื่อให้กระบวนการสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ขาดตอน ทำให้โรงเรียนเกิดความปลอดภัย เพราะเมื่อทุกคนได้ฉีดวัคซีน ทุกคนก็จะรู้สึกว่ามีความปลอดภัยร่วมกัน ในส่วนนี้หลังจากฉีดแล้วอยากให้ผู้บริหารโรงเรียนและผอ.เขตพื้นที่ฯ ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อเด็กฉีดแล้วมีอาการข้างเคียงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะจากผลวิจัยจากต่างประเทศพบว่าในเด็ก 1 ล้านคน เกิดผลข้างเคียง 60 คน แต่ยังไม่มีเด็กที่อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากวัคซีนไฟเซอร์ จึงอยากให้ทุกคนเกิดความมั่นใจในจุดนี้ ขณะที่ในส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงไป ตอนนี้ก็กำลังมีการเตรียมทำวิจัยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี ดังนั้นคาดว่าในอนาคตเด็กกลุ่มนี้ก็จะได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน "เมื่อนักเรียนได้ฉีดวัคซีนแล้ว อยากให้คุณครูที่ยังไม่ได้รับการฉีดอีกประมาณ 30% ได้ไปฉีดวัคซีนกันครบทุกคน ในส่วนนี้ต้องให้ทุกฝ่ายทั้งศึกษาธิการจังหวัด ผอ.เขต และผู้บริหารโรงเรียน ติดตามให้ครูได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน เพราะเมื่อเราได้ฉีดครบทุกคนแล้ว ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครูก็จะได้เกิดความปลอดภัยร่วมกัน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเปิดเรียนเท่านั้น โรงเรียนใดที่ยังไม่ถึงคิวฉีดวัคซีนแต่สามารถประเมินตนเองผ่านเกณฑ์ โดยไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตให้เปิดเรียนได้ ทางโรงเรียนก็สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว