NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ อุกกาบาตพุ่งชน #ดาวพฤหัสบดี จนเกิดแสงสว่างวาบชัดเจน เช้าวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2564 เวลาประมาณ 05.39 น. ตามเวลาประเทศไทย โจเซ ลุยส์ เปเรรา (José Luis Pereira) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวบราซิล สามารถบันทึกวิดีโอดาวพฤหัสบดีที่ปรากฏแสงวาบขึ้นบริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตร คาดว่าเกิดจากอุกกาบาตพุ่งเข้าสู่ดาวพฤหัสบดีแล้วเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงระเบิดออก ซึ่งโจเซสามารถบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ได้โดยบังเอิญ ดาวพฤหัสบดีมีมวลและขนาดใหญ่กว่าโลกหลายเท่า แรงโน้มถ่วงอันมหาศาลทำให้ดาวพฤหัสบดีดึงดูดวัตถุที่อยู่ใกล้เคียงเอาไว้มากมาย จากการศึกษาในอดีตประเมินว่าดาวพฤหัสบดีมีโอกาสที่จะดึงดูดวัตถุขนาดเล็กให้เข้ามาพุ่งชนมากกว่าโลกถึง 2,000 - 8,000 เท่า และจากการบันทึกข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนดาวพฤหัสบดีมีอัตราการเกิดเฉลี่ยประมาณ 11.7 ครั้งต่อปี ซึ่งครั้งที่โดดเด่นที่สุดคือครั้งแรกในปี พ.ศ.2537 ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 (Shoemaker-Levy 9) ถูกแรงไทดัลของดาวพฤหัสบดีฉีกดาวหางออกเป็นชิ้นๆ ก่อนจะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นร่องรอยจากการถูกชนเป็นสีดำขนาดใหญ่เด่นชัดในช่วงเวลานั้นก่อนที่จะจางหายไป อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังไม่พบร่องรอยการระเบิดที่ทิ้งไว้ในชั้นบรรยากาศแต่อย่างใด เรียบเรียง : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ"