สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ พล.อ.อนันตพร รมว.พม. ร่วมงานประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติครั้งที่ 10 พร้อมนำข้อเสนอทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม.ไปพิจารณาเพื่อแก้ปัญหา ส่วนปัญหาการจัดการน้ำ-ที่ดิน-ป่าไม้-ทะเล-ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป ด้าน พอช.จะนำข้อเสนอไปให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพื่อพิจารณาประกอบการทำแผนปฏิรูปประเทศ
สภาองค์กรชุมชนตำบลเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาในแต่ละตำบล เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับจังหวัด รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้
การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยในปีนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯ ใช้ชื่อการประชุมครั้งนี้ว่า ‘1 ทศวรรษสภาองค์กรชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย’ มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มาจากตัวแทนแต่ละจังหวัดๆ ละ 2 คน รวมทั้งตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งหมดประมาณ 200 คน
โดยวันนี้ (15 ธันวาคม) เป็นการประชุมวันสุดท้าย มีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินทางมารับฟังผลการประชุมซึ่งจัดทำเป็นข้อเสนอทางนโยบายในประเด็นปัญหาและแนวทางพัฒนาประเทศ ซึ่งประเด็นปัญหาต่างๆ นั้น จะมาจากการนำเสนอของสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ แล้วนำมาเข้าสู่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ ระดับชาติ เพื่อปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอต่อ รมว.พม. และจะนำเสนอสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ตามที่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (3) กำหนดเอาไว้
พลเอกอนันตพร รมว.พม.กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้เสนอในที่ประชุมวันนี้เกิดจากประมวลประเด็นปัญหาของพี่น้องมาอย่างต่อเนื่อง และอยากให้จัดลำดับความสำคัญของปัญหา ว่าเรื่องไหนเร่งด่วน หรือไม่เร่งด่วน เรื่องไหนมีความเดือดร้อน เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา โดยปัญหาใดที่เกี่ยวกับสังคม และเกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. กระทรวงก็จะนำไปพิจารณา โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ช่วยกลั่นกรองก่อน ส่วนปัญหาใดที่ไม่เกี่ยวข้องจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป
“การพัฒนาของชุมชน มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาดไทย กรมพัฒนาชุมชน พม. แม้กระทั่งกรมการปกครองก็มีบทบาทหน้าที่ ดังนั้นต้องมีการบูรณาการ สร้างการเชื่อมโยง แบ่งบทบาทหน้าที่ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้การวางแผน การติดตาม ซึ่งต้องมีข้อมูล โดยชุมชนเป็นผู้ชี้เป้า เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งสภาองค์กรชุมชน เป็นฐานสำคัญที่จะทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีความแข็งแรง ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และอยากให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันด้วย ซึ่งหากผนึกกำลังกันได้ก็จะเป็นการดี” พลเอกอนันตพรกล่าว
ส่วนปัญหาเรื่องงบประมาณของสภาองค์กรชุมชนที่มีจำกัดนั้น รมว.พม.กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งสภาฯ แล้ว 6,579 แห่ง หากผลงานสภาองค์กรชุมชนฯ ดี มีผลงานชัดเจน สามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้ ก็จะของบประมาณได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณในปี 2562 ในส่วนของสภาองค์กรชุมชนนั้น ตนจะช่วยพูดคุยเรื่องงบประมาณให้
สำหรับข้อเสนอทางนโยบายที่ได้จากการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติในครั้งนี้ ประกอบด้วย สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ปัญหาน้ำเน่าเสีย ฯลฯ ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่น รัฐควรทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน และต้องมีการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ด้วย, รัฐบาลต้องปฏิรูประบบการจัดการน้ำ โดยการจัดทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ เป็นการจัดทำ ‘แผนยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มน้ำของประเทศ’ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น, ออกกฎหมายการเก็บภาษีน้ำจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจากธรรมชาติ ฯลฯ
การจัดการที่ดินและป่าไม้ มีข้อเสนอการปฏิรูปกฎหมาย เช่น การผลักดัน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อกำหนดมาตรการกระจายการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยมีการจัดตั้งกองทุนที่ดินและสหกรณ์รองรับ, การปฏิรูประบบภาษีและกำหนดมาตรการ เพื่อสร้างความเสมอภาคและกระจายการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญ การจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดกในอัตราก้าวหน้า ,การทวงคืนผืนป่าควรมีการตรวจสอบข้อมูลการครอบครองที่ดินโดยชุมชนและผ่านฉันทามติของชุมชนก่อน และให้มีการชะลอการจับกุมหรือดำเนินคดีกับชาวบ้าน ฯลฯ
การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีข้อเสนอ เช่น การจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม, การแก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ทางทะเลในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการเพื่อการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน , ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมหนัก ปิโตรเคมี ที่ทำลายฐานทรัพยากร, ยกเลิกการสร้างโรงฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะในภาคใต้ สนับสนุนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน, ยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ
ความมั่นคงทางอาหารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากที่ผ่านมา เกษตรกรกว่า 60 % ของประเทศต้องเช่าที่ดินทำกิน และอีกจำนวนมากสูญเสียที่ดินเพราะปัญหาหนี้สิน, เมล็ดพันธุ์ 90 % อยู่ในมือ 4-5 บริษัทใหญ่, ผลและผลไม้มีสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐานเฉลี่ย 30-40 % ฯลฯ
ที่ประชุมมีข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่น ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 ยุติการใช้สารเคมีการเกษตรกำจัดศัตรูพืชอันตราย 5 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต คลอร์ไพริฟอส คาร์โบฟูราน และเมทโทมิล, รัฐบาลต้องคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อไม่ให้นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น และไม่ให้บุคคลต่างด้าว ทั้งส่วนตัวและนิติบุคคลเข้าครอบครองที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม, ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก การเพิ่มพื้นที่การเกษตรที่ยั่งยืน การผลิตอาหารที่ปลอดภัย เพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้ชุมชน ฯลฯ
ข้อเสนอทางนโยบายรองรับสังคมผู้สูงวัย ประเทศไทยจะเข้าถึง ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2575’ โดยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 20 % ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2575 ทำให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน ฐานะการคลัง สวัสดิการผ้สูงอายุ ฯลฯ
ที่ประชุมมีข้อเสนอทางนโยบาย เช่น ให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ กระทรวง พม.ขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในชุมชนให้เข้มแข็ง, ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ปรับแก้ระเบียบการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่นให้สามารถดูแลและพัฒนาคุณภาพของประชากรในพื้นที่ ได้, ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เร่งรัดสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพและการทำงานกับขบวนองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ฯลฯ
การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา การดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการจัดการที่ดินที่ขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อกังวลเรื่องผลกระทบด้านมลพิษจากอุตสาหกรรม และการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ
ที่ประชุมสภาฯ มีข้อเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายการพัฒนาดังกล่าว โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย หรือออกแบบการพัฒนาร่วมกัน, ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหาที่ดินและกำหนดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน แก้ปัญหาการประกาศพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน, รัฐบาลควรส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีบทบาทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ฯลฯ
การแก้ไข พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มีข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่น เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สภาฯ เช่น คำนิยามคำว่า ‘ตำบล’ ซึ่งมีปัญหากับงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ใช้ ‘เขต’ เป็นหน่วยจัดตั้งของสภาองค์กรชุมชน, กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้, กำหนดให้สภาองค์กรชุมชนจังหวัดเป็นนิติบุคคล ฯลฯ
นอกจากนี้ ข้อเสนอทางนโยบายดังกล่าวนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนงานปฏิรูปประเทศต่อไป