ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุทาน บูรณศักดิ์ศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 เมื่ออายุมากขึ้น ระบบต่างๆ ภายในร่างกายก็เกิดความเสื่อม นำไปสู่การเกิดโรค ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค หรือเรียกว่า โรคเสื่อม (Non-degenerative diseases) ตนพร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ ตั้งสมบัติวิจิตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จึงมีแนวคิดร่วมกันศึกษาค้นคว้าเรื่องยาสมุนไพร จนเกิดองค์ความรู้ และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ โดยการศึกษาและพัฒนายาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสามารถนำมาใช้ลดความเสื่อมถอยของร่างกาย ชะลอความชรา (anti-aging) ได้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ ตั้งสมบัติวิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยร่วมโดยการศึกษาค้นคว้ายาสมุนไพรหลายชนิดที่มีสรรพคุณส่งเสริมฤทธิ์กัน จนเกิดองค์ความรู้ในการสร้างตำรับยาสมุนไพร ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สูง และสามารถขึ้นทะเบียนยา เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตำรับยาสมุนไพรเหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่ร่างกายเกิดความเสื่อมมาก และกลุ่มคนวัยทำงานที่ได้รับแรงกดดันจากการทำงาน ความเครียดจากปัจจัยต่างๆ รอบตัว จนเกิดปัญหาโรคเสื่อมมากขึ้นจากการเกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกาย อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะโรคอ้วน การปวดเมื่อยอ่อนล้า เป็นต้น
ผศ.ดร.อุทาน
กว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณในแบรนด์ “เวชวัฒนะ” ผลิตภัณฑ์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.สุวรรณภูมิ ได้ศึกษาพัฒนาตำรับยาสมุนไพร โดยผลการตรวจวิเคราะห์ของ Central Lab Thai มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ตำรับยาสมุนไพรที่คิดค้นขึ้น 1 แคปซูล มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเทียบเท่ากับการรับประทานบลูเบอร์รี่ 15 กิโลกรัม รวมทั้งไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคและโลหะหนัก ตามมาตรฐานกำหนด
ดร.พิชญ์
เมื่อตำรับยาสมุนไพรได้รับการรับรองจาก อย. แล้ว ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของยาในอาสาสมัคร พบว่า อาสาสมัครทุกคนมีค่าคอเลสเตอรอลและ LDL ลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตยาสมุนไพรไทยนั้นมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากคณะผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตยาเอง โดยเฉพาะเรื่องสถานที่การผลิตยา จะต้องใช้งบประมาณถึง 5 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ประสานงานและได้รับความร่วมมือจากบริษัท ซี เนเชอรัล ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มาตรฐาน GMP PIC/S สามารถยื่นขอจดทะเบียนยาและสามารถผลิตยาให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ เป็นตัวแทนผลิตยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณในนาม ยาขับลม ตรา “เวชวัฒนะ”