แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมระดับโลกของจุฬาฯ วิจัยพบเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำสามารถกระตุ้นรากผมให้เกิดใหม่บนหนังศีรษะได้ รางวัลระดับโลกการันตีความสำเร็จ รักษาและแก้ปัญหาผมบาง ผมร่วง หนังศีรษะล้านจากพันธุกรรมเห็นผลใน 24 สัปดาห์
ผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้านเป็นอาการที่บั่นทอนความมั่นใจและคุณภาพชีวิตของหลายคน ไม่ว่าหญิง ชาย คนหนุ่มสาวหรือสูงวัย ผู้ที่มีปัญหานี้ขวนขวายหาแนวทางรักษาต่างๆ ทั้งเปลี่ยนแชมพู เปลี่ยนวิธีสระผม ตัดผมสั้น กินอาหารเสริม หลีกเลี่ยงการใช้เคมีกับหนังศีรษะ ฯลฯ แต่ปัญหาเส้นผมก็ยังแก้ไม่ตก เหตุหนึ่งเพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะสาเหตุของโรคผมบางผมร่วงที่มาจาก “พันธุกรรม”
รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป หัวหน้าศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยค้นหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากและประสบความสำเร็จจากงานวิจัย การใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำกระตุ้นหนังศีรษะสร้างเส้นผมเพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม (Proteomic Analysis in Derma Papilla from Male Androgenetic Alopecia after Treatment with Low Level Laser Therapy)ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery – ISHRS) การันตีความสำเร็จว่าการใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำมีประสิทธิภาพกระตุ้นหนังศีรษะและสร้างเส้นผมได้ผลดีใน 24 สัปดาห์!
สัญญาณเตือน “ผมร่วงผิดปกติ”
เมื่อใดที่ผมร่วงมากกว่าวันละ 70 – 100 เส้น นั่นคือสัญญาณ “ผมร่วงผิดปกติ” ที่ควรใส่ใจและรีบปรึกษาแพทย์ รศ. ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าว “โดยปกติผมร่วงตอนสระผม ไดร์ผม หวีผมในปริมาณหนึ่งได้ทุกวัน แต่หากพบผมร่วงมากผิดปกติ หรือผมร่วงระหว่างวัน เช่น ระหว่างกินข้าว ระหว่างเดินไปมา ระหว่างทำงาน ก็นับเป็นอีกสัญญาณของผมร่วมผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะได้แล้ว ส่วนในผู้ชายผมสั้น จะสังเกตผมร่วงในระหว่างวันยากกว่า ให้สังเกตตอนตื่นนอนว่ามีปริมาณผมร่วงมากน้อยแค่ไหนบนหมอน”
สำหรับผู้ชาย ลักษณะของภาวะผมบาง ผมร่วงจากพันธุกรรมมักมีลักษณะศีรษะด้านหน้าเถิกขึ้นไปเป็นรูปตัวเอ็ม หรือบางคนจะเริ่มมีผมบางบริเวณกลางกระหม่อม ซึ่งจะค่อยๆ ลามออกไปเรื่อยๆ ส่วนผู้หญิง อาการผมบางมักเริ่มบริเวณรอยแสก (ผม) ซึ่งจะทำให้ผมจะค่อยๆ เริ่มบางลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลาเช่นกัน
ลักษณะผมบางผมร่วงจากพันธุกรรมในผู้ชายและผู้หญิง
“ทั้งนี้ ผมบางและผมร่วงจากพันธุกรรมมีลักษณะแตกต่างจากผมบางที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (Abnormal immune system หรือ Alopecia Areata) ที่ทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมกลมๆ มีขนาดเท่าเหรียญ 10 บาท อยู่บริเวณหนังศีรษะ” รศ. ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าวเสริม
เหตุของปัญหา ผมบาง ผมร่วง หนังศีรษะล้าน
รศ. ดร.พญ.รัชต์ธร เผยสถิติว่าคนไทยประสบปัญหาผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้าน สูงถึงร้อยละ 40 และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทั้งความเครียด สภาพอากาศ และโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเส้นผมและศีรษะล้านเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ในเพศชายจะเริ่มมีภาวะผมบางตั้งแต่อายุน้อยและอาการรุนแรงมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหาผมและหนังศีรษะ 3 ประการ มีดังนี้
1.การถ่ายทอดพันธุกรรม ยีนส์เด่นจากคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีภาวะผมบาง หรือมีปัญหาหนังศีรษะ
2.ฮอร์โมนเพศชาย เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนเพศชายจะไปเกาะที่รากผม ทำให้รากผม เส้นผมบางลงเรื่อยๆ และหลุดร่วงได้ง่าย
3.ปัจจัยแวดล้อม เช่น ความเครียด แสงแดด ภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพบผู้ที่มีภาวะผมบาง ผมร่วงจากพันธุกรรม มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้
เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ ทางเลือกใหม่คืนชีวิตให้เส้นผม
แนวทางการรักษาปัญหาผมบาง ผมร่วง หนังศีรษะล้านจากพันธุกรรมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ การรับประทานยา Finasteride เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศชายไม่ให้เกาะที่รากผม ช่วยชะลอให้มร่วงช้าลง หรือร่วงน้อยลง การทายาในกลุ่ม Minoxidil ให้ทั่วบริเวณหนังศีรษะอย่างต่อเนื่องเพื่อบำรุงเส้นผมให้อวบและหนาขึ้น การผ่าตัดปลูกผม ย้ายผมจากด้านหลังที่มีผมหนาแน่นมาแทนที่บริเวณด้านหน้าที่มีผมบาง วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมบางและผมร่วงค่อนข้างหนักมากแล้ว ข้อดีของวิธีนี้คือผมจะอยู่ไปตลอดชีวิต ดัด ย้อม สระหรือเล่นกีฬาต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ
และล่าสุด อีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ การรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ 2 รูปแบบ คือ
1. หมวกหรือหวีเลเซอร์ปลูกผม เป็นอุปกรณ์เสริมมีลักษณะเป็นหมวกหรือหวีปลูกผมที่ปล่อยแสงเลเซอร์สีแดง Low-level laser therapy (LLLT) กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างรากผมแบบเบาๆ เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมบางในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง อุปกรณ์นี้พกพาสะดวก ใช้เองได้ที่บ้าน โดยใช้อุปกรณ์นี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 15 -20 นาทีต่อวัน จะทำให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น เกิดเส้นผมใหม่และเส้นผมหนาขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยวิธีการ ชนิดของอุปกรณ์ และปริมาณการใช้งานที่เหมาะสมตามอาการของโรค
2.แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ ที่ปรับจากเลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดขนส่วนเกินต่างๆ ให้เป็นเลเซอร์ พลังงานต่ำ นำไปกระตุ้นรากผมทั่วหนังศีรษะ
“การรักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะผมบางในระยะเริ่มต้น คือ มีอาการน้อย – ปานกลาง แต่จะไม่เหมาะกับคนที่มีอาการมากหรือหนังศีรษะล้านแล้ว ซึ่งคนไข้ควรทำเลเซอร์ต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 5 – 10 ครั้ง ห่างกันทุก 2 สัปดาห์ โดยระยะเวลาที่เริ่มเห็นผล คือ 5 ครั้ง หลังจากเริ่มทำเลเซอร์ และจะเห็นผลชัดเจน 3 เดือนหลังจากรักษาด้วยเลเซอร์แล้ว คนไข้มีผมงอกใหม่ เส้นผมแข็งแรงขึ้น” รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าว
งานวิจัยนี้นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชียที่ได้รับการยืนยันประสิทธิภาพของกระบวนการรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มต่ำเพื่อขจัดปัญหาโรคผมร่วงจากพันธุกรรม และทำให้ รศ. ดร.พญ.รัชต์ธร เป็นแพทย์หญิงไทยคนแรกที่คว้ารางวัลสูงสุด Platinum Follicle Award 2019 สำหรับผู้ที่มีความสามารถและมีผลงานวิจัยด้านเส้นผมจากสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery (ISHRS)
“แม้ผมบางผมร่วมจากพันธุกรรมเป็นเรื่องที่เราไม่สามามารถแก้ไขได้แล้ว แต่การรักษาในปัจจุบันเราสามารถสามารถยืดอายุเส้นผมและสุขภาพหนังศีรษะให้แข็งแรงยืนยาวออกไปได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารโดยเฉพาะโปรตีน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด” รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าวทิ้งท้าย
ช่องทางปรึกษาและรักษาโรคเส้นผมและหนังศีรษะ
•เพจ “มีผมให้หวี by Bevita” รศ. ดร.พญ.รัชต์ธร เปิดกลุ่มสาธารณะในเฟซบุ๊กชื่อ “มีผมให้หวี by Bevita” เพื่อรับฟัง พูดคุย และให้ความรู้เคล็ดลับการดูแลเส้นผม การแก้ปัญหาผมบาง ผมร่วม หนังศีรษะล้านอย่างใกล้ชิด เป็นกันเอง ภายใต้หลักการทางการแพทย์
•คลินิกโรคเส้นผมและหนังศีรษะ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องหนังศีรษะและเส้นผมบาง ผมร่วง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คลินิกโรคเส้นผมและหนังศีรษะ แผนกผิวหนัง อาคาร ภปร ชั้น 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร.0-2256-4000