จากกรณีสาวผงะ เจอพยาธิในปลากระป๋องจนลมแทบใส่ ทำเอาขยาดถึงประกาศจะเลิกกินตลอดชีวิตนั้น นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย มีคำแนะนำว่า ก่อนซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียด ต้องมีเลขสารระบบอาหารในเครื่องหมาย อย. (เลข 13 หลัก) สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตวันเดือนปีที่หมดอายุ กระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่ว-เป็นสนิม เมื่อเปิดกระป๋องให้สังเกตหากมีสี-กลิ่นผิดปกติจากเดิม หรือพบสิ่งปลอมปนให้รีบนำไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ อาหารกระป๋องที่บวมบุบบู้บี้ ตะเข็บกระป๋องมีรอยรั่วหรือเป็นสนิม อาจจะทำให้อาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเจริญเติบโต ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสี กลิ่น รส และคุณค่า โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดโบทูลินั่มจะสร้างสารพิษโบทูลินั่มที่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง หากรับประทานจะคลื่นไส้ อาเจียน อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อต่างๆ ตาพร่ามองเห็นภาพซ้อน ซึม ง่วง กลืนไม่สะดวก ลิ้นและคออักเสบ เพราะไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ กล้ามเนื้อต้นคออ่อนแรงจนยกหัวไหล่ไม่ขึ้น อาการจะแสดงให้เห็นภายใน 2-4 ชั่วโมง แต่บางรายอาจนานถึง 12-36 ชั่วโมง หากไม่ได้รักษาทันทีอาจเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้น หากพบมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบพบแพทย์ด่วน อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานทุกครั้ง ต้องอุ่นให้เดือด ห้ามอุ่นทั้งกระป๋องเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนในอาหารได้ อาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากรับประทานไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและควรเก็บในตู้เย็น