แนวทางการสานพลังของบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “บวร” เป็น 1 ใน 10 แฟลคชิป(10 Flagships)นโยบายของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ได้นำหลักบวรมาปรับเปลี่ยนการทำงานเชิงรุกหยุดหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม และน่าชื่นชม ยืนยันได้จากเกียรติบัตร คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา (โครงการตำบลเข้มแข็ง) มอบให้อ.ท่าตะเกียบในฐานะสร้างการรับรู้สู่ประชาชน ตามนโยบายสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีจำนวนประชาชน กดถูกใจจากเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฉะเชิงเทรามากที่สุด ประจำเดือนส.ค. 2564         “ประชาชนในอ.ท่าตะเกียบเดินทางไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อ.ใกล้เคียง ใช้บริการรถรับส่งพนักงานจึงมีคลัสเตอร์มาจากตรงนี้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งคนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่สีแดง คนท่าตะเกียบที่กลับมารักษาตัวในพื้นที่มีประมาณ 10-16 คนต่อวัน เรามีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั้งหมด 3 แห่ง เนื่องจากศักยภาพของโรงพยาบาลท่าตะเกียบเองไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้” นางสาวรัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าว          โดยท่าตะเกียบเป็นหนึ่งในอำเภอเข้มแข็งมีความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนผ่านการรวมพลัง ภายใต้โครงการ”บวร”ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านและตำบลตามนโยบาย 10 แฟลคชิปของนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”      “10 แฟลคชิปมีหลายมิติในมิติหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อเขาสามารถพี่งตนเองได้ เขาก็สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวในเศรษฐกิจแบบนี้ได้ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอมาร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนเพื่อคนท่าตะเกียบ”         นายอำเภอท่าตะเกียบ บอกเล่าถึงการทำงานเชิงรุกว่า จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน โดยสองมาตรการจะขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งส่วนแรกนั้นมีการตั้งทีมตำบลเข้มแข็งในระดับพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในเชิงรุกมีการลงพื้นที่ตรวจตรา จัดระเบียบสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค เช่น ตลาดนัด ร้านค้า โรงงาน เป็นต้น ค้นหาผู้ได้รับความเดือดร้อน กลุ่มเปราะบาง ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่/กลุ่มเสี่ยง กลับภูมิลำเนาการเฝ้าระวังสถานประกอบการ  ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ข้อสั่งการของ ศบค. ให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านทางกลุ่ม Line ของอำเภอ/กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่              สำหรับส่วนที่สองนายอำเภอท่าตะเกียบ ระบุว่า เป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านชุมชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหรือในหลวงรัชกาลที่9 เนื่องจากประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ90 ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ได้แก่ ทำนา ทำสวน ปลูกยูคาฯ ยางพารา และมันสำปะหลัง  โดยมีรายได้หลักมาจากอาชีพเหล่านี้ “อย่างสถานการณ์โควิดตอนนี้เราเห็นได้ชัดเลยว่าชาวบ้านมีการปลูกพืชผักสวนครัว ทำไร่นาสวนผสมหลังจากเขาสามารถเลี้ยงดูตนเองในเรื่องของบริโภคในครัวเรือนแล้ว ผลผลิตที่เหลือเขายังเอาไปจำหน่ายมีรายได้ด้วย ส่วนหนึ่งก็จะแบ่งปันให้กับคนอื่นด้วย อย่างทุกวันนี้ชาวบ้านเอาพืชผักผลผลิตพืชผลทางการเกษตรมาส่งให้กับทางอำเภอท่าตะเกียบเพื่อจะได้นำเอาไปให้ผู้กักตัวหลายร้อยครัวเรือน ซึ่งเขาเดือดร้อนไม่สามารถออกมาทำมาหากินได้” นางสาวรัศมินท์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยได้รับความเมตตาจากวัดเทพพนารามและโรงเรียนวัดเทพพนาราม  ในการจัดตั้งเป็นสถานที่ศูนย์พักคอย              “ที่อำเภอท่าตะเกียบท่านเจ้าอาวาสวัดเทพพนาราม ท่านก็อนุญาตให้เราใช้สถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอย   อีกสถานที่เราได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนวัดเทพพนาราม รองรับผู้ป่วยได้60 เตียง เพิ่งเปิดใช้งานไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา”นายอำเภอท่าตะเกียบกล่าวย้ำ                 นายสมหมาย ชินนะหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 บ้านทุ่งส่าย ต.คลองตะเกรา และที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งส่าย กล่าวว่า นอกจากมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของคนในหมู่บ้าน ตามมาตรการของนายอำเภอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วยังคอยอำนวยการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งส่าย ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มอีกด้วย คอยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคอุปโภค ตลอดจนใช้เพื่อการเกษตรกร ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่รับส่งผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับการบริจาคจากสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปให้ผู้กักตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยตามจุดต่าง ๆ อีกด้วย          “ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องน้ำใช้ ก็ซื้อเครื่องปั๊มน้ำมาติดตั้งให้สูบน้ำจากคลองกระแทตขึ้นมาใช้ให้กับกลุ่ม แต่ช่วงหน้าแล้งน้ำในคลองแห้งขอดได้ประสานไปทางชลประทานจังหวัด ได้จัดงบมาสร้างฝายให้ 1 ตัวกั้นลำน้ำกระแทตคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2565 ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งได้”ผู้ใหญ่สมหมาย กล่าว            ด้านนางบุญโฮม บุญสนิท ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งส่าย หมู่ 12 ต.คลองตะเกรา ย้อนอดีตก่อนมารวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษว่า เมื่อก่อนชาวบ้านมีอาชีพปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง  กระทั่งเกิดปัญหาราคาตกต่ำ รายได้ไม่พอรายจ่าย มีหนี้สินเพิ่มขึ้น จึงหาทางลดรายจ่ายเพิ่มรายได้จากการปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ก่อนขยายมาเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน จนวันนี้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 8,000-10,000 บาทต่อเดือน       “สมาชิกกลุ่มตอนนี้มีอยู่ 41 ราย แต่ละคนปลูกพืชผักหลากหลายตามความถนัด วิธีการปลูกต้องไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ สมาชิกบางคนก็ผลิตปุ๋ยเอง ใช้เอง บางรายก็ผลิตขายให้กับสมาชิกด้วยกัน ส่วนผลผลิตที่ได้จะนำมาส่งที่กลุ่ม จากนั้นทางกลุ่มก็จะนำไปขายที่หน้าศาลากลางจังหวัดทุกวันอังคาร พฤหัสและศุกร์ ส่วนวันพุธขายที่โรงพยาบาลท่าตะเกียบ เอาไปเท่าไหร่ไม่มีเหลือ หมดทุกวัน”นางบุญโฮม กล่าวและว่า        ขณะเดียวกันก็จะจัดสรรไว้บางส่วนนำไปส่งให้กับทางอำเภอเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้กักตัวที่ศูนย์พักคอยตามชุมชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 3 แห่งด้วย บทบาทของอำเภอประสานทุกภาคส่วนมาช่วยเหลือกันในยามวิกฤติ ช่วยให้ประชาชนทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้นอย่างแท้จริง +++++++++