กรมการแพทย์ พัฒนาบริการทางการแพทย์ “ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ” และ “การผ่าตัดแบบทำลายเนื้อเยื่อน้อย” แก้ปัญหาระบบบริการ ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่าย ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุขจึงวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะสุขภาพถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันยังพบว่าระบบสุขภาพยังมีส่วนขาดของการพัฒนา เช่น การเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และปลอดภัย การลดค่าใช้จ่าย การลดความแออัด เป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาระบบบริการจึงเป็นนโยบายสาธารณสุข ที่กรมการแพทย์มุ่งเน้นและให้ความสำคัญ อาทิ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) และการผ่าตัดแบบทำลายเนื้อเยื่อน้อย (Minimally Invasive Surgery: MIS) ซึ่งขณะนี้นโยบายในเรื่องการพัฒนาระบบบริการดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2561 เพื่อพัฒนาสุขภาพให้ประชาชนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ One Day Surgery (ODS) เป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องรับเป็นผู้ป่วยใน และอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักค้างคืน โดยผู้ป่วยจะเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมาจากที่บ้านและมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล ซึ่งหลังพักฟื้นจากการผ่าตัดไม่กี่ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ภายในวันเดียว ทำให้ลดเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล รวมทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด ทำให้รักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องรอเตียงว่าง ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีเตียงรองรับผู้ป่วยผ่าตัดฉุกเฉินหรือโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย สำหรับโรคหรือภาวะที่สามารถรับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ เช่น โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องท้อง ภาวะอุดตันของหลอดอาหารจากมะเร็งหลอดอาหาร นิ่วในท่อน้ำดี ฯลฯ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (ODS) โดยกำหนดให้โรงพยาบาล ในสังกัดดำเนินการระบบดังกล่าว เริ่มจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมแล้วขยายไปอย่างน้อย 1 โรงพยาบาลในทุกเขตสุขภาพ โดยกำหนดเป้าหมายของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ODS ในปี 2561 ร้อยละ 15 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2564 อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานระหว่างกรมการแพทย์ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ราชวิทยาลัยแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ในรูปแบบของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการจัดตั้งและการรักษาความปลอดภัยของผู้ป่วย เพื่อชี้แจงนโยบายแนวทางการพัฒนาระบบบริการการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (ODS) และการผ่าตัดแบบทำลายเนื้อเยื่อน้อย (MIS) เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจนำไปสู่การพัฒนาในทิศทางเดียวกันและเป็นรูปธรรมชัดเจน นำไปสู่การลดปัญหาในระบบบริการ เช่น ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่าย และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจโรงพยาบาลทั่วประเทศ ด้วยแบบประเมินตนเองในการพัฒนาระบบบริการการผ่าตัดแบบ ODS และวางแผนสำหรับการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต