แนะบอร์ดสิ่งแวดล้อมเลื่อนพิจารณาโครงการผันน้ำยวม 7 หมื่นล้านออกไปก่อน เผย อีไอเอไม่ชัดเจนหลายจุด นักวิชาการชี้ได้ไม่คุ้มเสีย “วีระกร” ย้ำ “บิ๊กตู่”-“บิ๊กป้อม”หนุนเต็มที่ให้จีนลงทุน กรมชลชิ่งหนีเวทีสื่อ วันที่ 11 ก.ย.64 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สำนักข่าวชายขอบ สำนักข่าวรีพอร์ทเตอร์และIMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ "โปรเจคยักษ์ - ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย" โดยวิทยากรประกอบด้วยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ดำเนินรายการโดยนายฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เมื่อถึงเวลา 15.00 น.ซึ่งเริ่มต้นเสวนา ปรากฏว่าทางผู้จัดไม่สามารถติดต่อนายสุรชาติ ในฐานะผู้แทนกรมชลประทานได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทางกรมชลประทานได้ให้ผู้จัดงานคือคณะสื่อมวลชนส่งหนังสือเชิญไปถึงอธิบดีกรมชลประทานแล้ว ซึ่งมีนายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1เป็นผู้ประสาน และมีการยืนยันว่าอธิบดีมอบหมายให้นายสุชาติมาร่วมเป็นวิทยากร อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายนายสุชาติได้โทรศัพท์กลับมาขอโทษผู้จัดงานว่าติดภารกิจที่จังหวัดขอนแก่น ขณะที่นายวีระกรบอกว่ากรมชลประทานยังไม่อยากส่งตัวแทนเข้าร่วมเพราะอยากให้เรื่องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน นายวีระกร คำประกอบ กล่าวว่า ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ดูแลประชาชนพื้นที่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 25 ล้านคน ปัญหาหลักคือลุ่มน้ำเจ้าพระยาและปิงตอนล่างปริมาณน้ำไม่พอใช้ โดยเขื่อนภูมิพล ปริมาณกักเก็บน้ำประมาณ 13,000 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เขื่อนยังว่าง น้ำต้นทุนไม่มีพอเติมในอ่าง แม้ว่าจะมีพื้นที่ชลประทานมาก มีโครงการส่งเสริมชลประทานต่างๆ มากมาย แต่ก็แห้งหมดในช่วงฤดูแล้ง เมื่อไม่มีน้ำต้นทุน คลองก็ไม่มีน้ำ ทั้งเพื่อผลักดันน้ำเค็ม และการทำน้ำประปาซึ่งการประปานครหลวงต้องใช้น้ำ 2,500 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 3,000 ชลประทานน้ำน้อยมาก น้ำสำหรับเกษตรกรไม่เพียงพอ ขาดน้ำประมาณ 4-5,000 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ปี 2557 ตนเห็นปัญหาแล้วอยากช่วยผลักดันโครงการนี้เพื่อประชาชน โดยแผนมีสองจุดคือผันน้ำเมย ที่ แม่ตื่น จ.ตาก และแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน สามารถใช้งบที่กรมชลประมาณการ 71,000 ล้านบาท ที่คุ้มค่า หากไม่มาเติมน้ำก็ไม่พอ คนกทม. ก็รับประทานน้ำเค็ม นายวีระกร กล่าวว่ามีบริษัทวิสาหกิจจีน เมื่อรู้ว่ามีโครงการ อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้า ประสานงานจนบริษัทจีนมีความสนใจ ทำเรื่องมาถึงกมธ. บอกว่าบริษัทดังกล่าวสนใจมาลงทุน ในชั้นต้นคุยว่าบริษัทจีนจะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน และได้ผลประโยชน์ตอบแทนในการขายน้ำที่สูบข้ามภูเขา ต้นทุน 4 หมื่นล้านบาท และก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี มีความชำนาญมากกว่าและมีเครื่องมือพร้อม ได้คุยกับอธิบดีกรมชลประทาน ว่าหากรายงงาน EIA ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปลายปีก็คงได้เจรจา อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องบริษัทนี้เท่านั้น สทนช.จะเป็นผู้คิดว่าจะลงทุนอย่างไร เปิด TOR ให้ประมูลได้ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะบริษัทจีนนี้เท่านั้น เป็นหน้าที่ สทนช. ว่าประมูบอย่างไร “โครงการในเฟส 1 การเอาน้ำยวมสูบข้ามมา ได้ 1,795 ล้าน ลบ.ม./ปี เฟสต่อมาเติมน้ำโดยสูบจากแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีปริมาณน้ำท่า 130,000 ล้านต่อปี โดยแม่น้ำสาละวินมีน้ำไหลแรงทั้งปีแม้ในหน้าแล้ง เอาไม้ไผ่ปักลงไป ไม่มีทางที่จะถึงก้นแม่น้ำ ไม่ไผ่หักเลยเพราะน้ำไหลแรงมาก เพราะมาจากภูเขาหิมะละลายที่ราบสูงทิเบต เราไม่ต้องคิดว่าเอาน้ำยวมไปเติมให้สาละวินเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ไม่ต้องคิดขนาดนั้น เขาไม่ต้องการน้ำจากยวม สาละวินมีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว”นายวีระกร กล่าว รองประธาน กมธ.กล่าวว่าสำหรับเขื่อนแม่น้ำยวม น้ำจะท่วมขึ้นมาเพียง 4 เมตร ซึ่งท่วมนิดเดียวไม่ถึงบ้านคน ระดับน้ำสูงสูดไม่มาก ต่ำกว่าระดับน้ำในฤดูฝนของลำน้ำยวม ส่วนปัญหาคือพื้นที่ทิ้งดิน (จากการขุดเจาะอุโมงค์) 4 จุด ทิ้งแล้วจะบดอัด และใช้หน้าดินดีปูทับมาเพื่อปลูกป่า “จุดที่สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม 13 กม.น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเมย ลงแม่น้ำสาละวิน ไหลออกพม่า ไม่ใช่ของไทยแล้ว แทนที่จะปล่อยน้ำทิ้ง 3,000 ล้านลบ.ม. ทำไมไม่สูบเข้ามาประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. และสูบในหน้าฝน หลักเกณฑ์คือผันน้ำเฉพาะเดือนมิถุนายน-มกราคม เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำเยอะ น้ำทิ้งไปเฉยๆ คนไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำส่วนนี้ การระบายเพื่อรักษาสมดุลย์นิเวศวิทยาท้ายน้ำนั้นมีการคำนวณ 182 ลบ.ม./วินาที ในช่วงเฉพาะฤดูฝน หากน้ำน้อยก็ต้องรักษานิเวศท้ายน้ำ ซึ่งเหลืออีกเพียง 13 กม. เท่านั้น”นายวีระกร กล่าว เมื่อถามว่า ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า ประธานกมธ. ได้ลาออกจากรัฐมนรีช่วยว่าการกระทรวงเกตราและสหกรณแแล้วจะส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการหรือไม่ นายวีระกร ตอบว่า ผู้ผลักดันโครงการนี้ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัส แต่ผู้หลักคือนายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่าโครงการนี้เริ่มในปี 2538 โดยกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ศึกษาพบว่าแนวทางดีที่สุดคือ แม่น้ำยวม แต่ใช้งบประมาณสูงมากจึงถูกชะลอไปก่อน ต่อมามีความพยายามแก้ปัญหาลุ่มเจ้าพระยา จึงให้งบศึกษาเร่งด่วนแก่กรมชลประทาน จ้างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยบริษัทปัญญาและมหาวิทยาลัยนเรศวร โครงการประกอบด้วยเขื่อนน้ำยวม กักเก็บน้ำ 68 ล้าานลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา อุโมงค์ส่งน้ำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 8-12 เมตร รถสิบล้อวิ่งสวนกันได้ สูบน้ำไปบนเขาสูงประมาณ 170 เมตร แล้วมีอุโมงค์พักน้ำ ปล่อยน้ำตามแรงโน้มถ่วงมายังเขื่อนภูมิพล ใช้งบประมาณ ราว 71,000 ล้านบาท ใช้เวลาเตรียมโครงการและก่อสร้าง 9 ปี การวางท่อเจาะอุโมงค์ผ่านป่าสงวน 6 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และมีชุมชนท้องถิ่นอาศัยในพื้นที่ ประเด็นที่ถกเถียงคือ 1 งบประมาณ 2 โครงการผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3 ผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และ 4 ค่าไฟฟ้าจากการใช้งานโครงการ ซึ่งต้องจ่ายระยะยาว แต่ใน EIA ไม่มีรวมไว้ ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่าการผันน้ำข้ามลุ่มในแง่วิศวกรรมสามารถทำได้ แต่นักวิชาการมีข้อกังวล เช่น ด้านทรัพยากร ด้านน้ำกังวลเรื่องสายพันธุ์ปลา เอเลี่ยน คำว่าโครงการสามารถทำได้ แต่คำถามคือต้องทำหรือยัง หลักการคือควรแก้ปัญหาในลุ่มน้ำของตนเองให้เบ็ดเสร็จ การแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนด้านเกษตรและน้ำอุปโภาคบริโภค กรมชลประทานตั้งมาแล้ว 119 ปี น้ำท่วมคิดถึงกรมชลประทาน น้ำเค็มรุกล้ำก็คิดถึงกรมชลประทาน หากวันนี้มีกรมชลประทานนนั่งด้วยก็คงชื่นชม ว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลน้ำ แต่จริงๆ มีหน่วยงานด้านน้ำจำนวนมากมาในกระทรวงต่างๆ ลุ่มเจ้าพระยาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ผลิตน้ำ ปัญหาน้ำประปากร่อย มีการแก้ปัญหาได้ หากมองวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ว่านอกจากหาน้ำมาเติม คือจัดการด้าน demand ชลประทานทั่วประเทศมีประสิทธิภาพไม่เกิน 60% เท่ากับว่าน้ำในเขื่อน 100 ไปถึงเกษตรเพียง 60 น้ำหายไป 40 หากเราเพิ่มประสิทธิภาพชลประทาน เพียง 10-20 % เราก็สามารถเพิ่มพื้นที่ทำนา ซึ่งสามารถทำได้เลย ดร.สิตางศุ์ การผันน้ำในฤดูใดก็ตาม ต้องเริ่มต้นด้วยคำถามว่า มีความจำเป็นต้องมีโครงการนี้หรือไม่ ยังมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีมาตรการลดผลกระทบอย่างไร สำหรับลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณน้ำหายไปทั้งระบบเยอะมาก น้ำที่หายไปทุกๆ วัน ทำไมจึงไปเสียดายน้ำที่ไหลลงทะเล ตัวเลขเป็นวิทยาศาสตร์ ทราบได้ว่าหากลดการรั่ว 1-2% จะได้ปริมาณน้ำคืนมาเท่าไหร่ หากก้าวข้ามได้ และคิดว่าน้ำเพียงพอในลุ่มเจ้าพระยา “เขื่อนภูมิพลออกแบบมาแล้ว แต่มีความจำเป็นอะไรที่จะให้มีน้ำเต็มอ่าง เมื่อมีฝนตกทางเหนือ ทุกจังหวัดทางภาคกลางและกรุงเทพล้วนกลัวน้ำท่วม ฝนไม่ได้ตกเหนือเขื่อน แปลว่าเราไม่ขาดแคลนน้ำ แต่การบริหารจัดการน้ำที่เป็นปัจจุบัน เรามีน้ำให้เก็บแต่เก็บหรือยัง เราไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณในการสูบน้ำยวม เราอยากทำโครงการนี้เพราะอะไร เพราะกรมชลประทานอยากก่อสร้างใช่หรือไม่”ดร.สิตางศุ์ กล่าว นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีกำไรจากการปลูกข้าว1ไร่ 1,400 บาท หากเราจะผันน้ำยวม 1,750 ล้านลบ.ม. ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้าง 10 ปี ระหว่านั้นใครรวย หากเกษตรกรปลูกข้าวเพิ่ม แล้วใครรวย คือพ่อค้าปุ๋ย พ่อค้ายา เจ้าหนี้นอกระบบ และธกส. ใช่หรือไม่ ทำอย่างไรให้ชาวนาได้ปลูกข้าวโดยใช้เทคโนโลยี ปลูกน้อยแต่ได้ผลมาก เราต้องหลุดจากกรอบเดิมเพราะเกษตรกรไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เรายังจำเป็นต้องผันน้ำข้ามลุ่ม 71,000 ล้านบาท หรือไม่ “ถามว่าโครงการผันน้ำยวมครั้งนี้ประเทศได้หรือเสีย ดิฉันตอบว่าได้ไม่คุ้มเสีย” ดร.สิตางศุ์ กล่าว ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้แสดงความคิดเห็น โดยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าวันนี้อยากฟังจากกรมชลประทาน ว่าการคำนวณพื้นที่ชลประทานต้องเป็นตามความเป็นจริง อ้างตัวเลขพื้นที่ชลประทานเป็นล้านไร่ เป็นข้อมูลเกินจริง การลงทุน 71,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าสามปี ในขณะที่วัสดุก่อสร้างราคาแพงขึ้นตลอด และยังต้องรวมค่าไฟฟ้าจากการสูบน้ำอีก การคำนวณต้นทุนต้องคิดตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ใช่คิดเฉพาะค่าก่อสร้าง โครงการเดิมจึงยกเลิกไปเพราะไม่คุ้ม “เรื่องการมีส่วนร่วม วันนี้มี่กรมชลประทานไม่มาถือว่าไม่มีส่วนร่วมเช่นกัน EIA ผ่านแล้วก็ต้องทำตามที่ระบุไว้ใน EIA จะทำนอกเหนือจากนั้นไม่ได้ การผันน้ำข้ามลุ่มต้องฟังประชาชนทั้งสองลุ่ม และเข้าคณะกรรมกรลุ่มน้ำทั้งสองลุ่ม หากดึงจีนมาร่วมแล้วเก็บค่าน้ำไม่ได้ ก็ต้องเอางบประมาณแผ่นดินมาจ่าย ที่บอกว่านายกฯ และรองนายก เห็นด้วย ก็ยังไม่เคยได้ยินจากปากของนายกฯหรือรองนายกเลย “นายหาญณรงค์กล่าว นายหาญณรงค์กล่าวว่า จุดทิ้งดินของโครงการเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน และเป็นพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งในรายงาน EIA ก็ไม่ระบุ ทั้งบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ บ้านแม่งูด อ.ฮอด สำหรับการสูบน้ำจากแม่น้ำยวม ตามตัวเลขก็คือต้องสูบไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งต่อปี ตลิ่งจะพัง จาก อ.แม่สะเรียง มาถึง อ.สบเมย ก็มีเทศบาลและท้องถิ่น ที่ใช้น้ำ “อยากให้ชะลอการนำเรื่องเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไว้ก่อน เพราะอีไอเอไม่มีความชัดเจนหลายประเด็น และถึงแม้คณะกรรมการสิงแวดล้อมฯจะผ่านความเห็นชอบ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการในปีนี้ได้เพราะในปี 2565 ไม่ได้จัดงบประมาณไว้”นายหาญณรงค์ กล่าว ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านริมแม่น้ำยวม กล่าวว่า รูปที่ นายวีระกรโชว์ เป็นรูปที่บ้านของตนเอง (บ้านท่าเรือ อ.สบเมย) ในฤดูฝนน้ำขึ้นสูงมาก ไม่ทราบว่า ส.ส. เคยลงพื้นที่ในฤดูฝนหรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่น้ำจะไม่ท่วมกว่านี้ หากมีการกั้นเขื่อนแม่น้ำยวม กระบวนการ EIA ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ แต่กลับไม่มีการจัดล่ามแปลภาษา กระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งระบุในกฎหมายฉบับต่างๆ แต่เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลโครงการ ชาวบ้านพยายามนำเสนอข้อมูลข้อกังวล ตนเองเคยไปบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรจากการขุดเจาะอุโมงค์ ประชาชนพยายามทำจดหมายส่งไปยังกรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง แต่ใน EIA กลับไม่คำนึงถึงข้อทักท้วง หาก EIA นี้มีมาตรฐานเคารพสิทธิของประชาชนจะไม่ผ่านอย่างแน่นอน “ในวงเสวนาพูดถึงแต่ประโยชน์ของคนลุ่มน้ำภาคกลางและกรุงเทพฯ แต่ไม่มีใครพูดถึงประโยชน์ของคนพื้นที่เลยว่าจะได้อะไร”ชาวบ้าน กล่าว