กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ พร้อมเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์ดำเนินงานอย่างโปร่งใส เพิ่มความเชื่อมั่นให้สมาชิกได้รับการดูแลจากสหกรณ์และได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
นางสาวรัชนี วิชชุลดา ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสหกรณ์ นับเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์จึงเป็นนโยบายสำคัญที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามภารกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและโปร่งใสในระบบสหกรณ์ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินงานสนองตามนโยบาย ทั้งในด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี รวมถึงกำกับการสอบบัญชีสหกรณ์โดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และเท่าทันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งนี้ การตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เป็นอีกภารกิจสำคัญที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นางสาวรัชนี กล่าวว่า การตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เป็นกลไกสำคัญของระบบการตรวจสอบด้วยสหกรณ์เอง เป็นการดำเนินงานของสหกรณ์ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ความเชื่อมั่น เพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีผู้ตรวจสอบกิจการเป็นตัวแทนของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ทำการตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมถึงการประเมินผลการควบคุมภายใน การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ และการตรวจสอบในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกได้ว่า การบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ มีความโปร่งใสเชื่อถือได้ เป็นไปตามหลักการสหกรณ์และมีการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสหกรณ์ ซึ่งการตรวจสอบกิจการสหกรณ์นั้นเป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ พ.ศ.2563 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบกิจการไว้ว่า จะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้นหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ รวมทั้งจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกิจการจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในกรณีคณะผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ (ที่มีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5 พันล้านบาท) ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี (หมายรวมถึงปริญญาโทหรือปริญญาเอก) ด้านการเงินการบัญชีการบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ รวมถึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระเบียบกำหนด จึงจะสามารถมาสมัครเป็นผู้ตรวจสอบกิจการได้
ทั้งนี้ เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบกิจการแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายสหกรณ์ ระเบียบ ประกาศและคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ ระเบียบและข้อบังคับสหกรณ์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกระบวนการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ มีขั้นตอนดังนี้
1.การศึกษาและสำรวจเบื้องต้น เป็นขั้นตอนแรกของการปฏิบัติงานตรวจสอบกิจการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ตรวจสอบกิจการมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสหกรณ์ที่ตรวจสอบ เช่น ลักษณะการดำเนินงาน วิธีปฏิบัติงาน นโยบาย เป้าหมาย กฎหมายและระเบียบปฏิบัติของสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสหกรณ์และยังสามารถใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบได้อีกทางหนึ่ง
2.การวางแผนการตรวจสอบ เป็นการคิดล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงานจริง การวางแผนที่ดีจึงช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายในระยะเวลางบประมาณและอัตรากำลังที่มี ตลอดจนเป็นทิศทางให้งานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
3.การปฏิบัติงานตรวจสอบ เป็นกระบวนการตรวจสอบ สอบทาน และรวบรวมหลักฐานเพื่อวิเคราะห์และประเมินผลการปฏิบัติงานต่างๆ ว่าเป็นไปตามนโยบาย แผนงาน ข้อบังคับและระเบียบปฏิบัติของสหกรณ์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.การรายงานผลการตรวจสอบกิจการ เป็นการสรุปผลการตรวจสอบที่ผู้ตรวจสอบกิจการเห็นว่า จำเป็นต้องรายงานให้สหกรณ์ทราบ ทั้งในด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการในด้านต่างๆ รวมทั้งข้อสังเกตที่ตรวจพบ และข้อเสนอแนะที่สหกรณ์ควรแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบที่สหกรณ์กำหนด
5.การติดตามแก้ไข ในการปฏิบัติงานตรวจสอบกิจการในคราวต่อไป ผู้ตรวจสอบกิจการต้องติดตามผลการแก้ไขและเขียนไว้ในรายงานผลการตรวจสอบกิจการในคราวนั้นด้วย
กรณีผู้ตรวจสอบกิจการตรวจพบว่า มีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสหกรณ์หรือสหกรณ์ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศหรือคำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับระเบียบมติที่ประชุมที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกและสหกรณ์ ให้ผู้ตรวจสอบกิจการแจ้งผลการตรวจสอบกิจการต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทันที และแจ้งให้สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในพื้นที่และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดหรือสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครทราบโดยเร็ว
ผู้ตรวจสอบกิจการในฐานะผู้แทนของของสมาชิกต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการและประชุมใหญ่ เพื่อชี้แจงผลการตรวจสอบกิจการ ข้อสังเกตที่ตรวจพบและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ให้ที่ประชุมได้รับทราบและคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป
“ผู้ตรวจสอบกิจการต้องมีจริยธรรมโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ขยันหมั่นเพียรและมีสำนึกรับผิดชอบมีความเที่ยงธรรมโดยไม่เรียกร้องไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่พึงได้ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับสหกรณ์ มีการรักษาความลับของสหกรณ์ที่รับตรวจสอบกิจการและต้องพัฒนาความรู้ทักษะความชำนาญอย่างต่อเนื่อง โดยการตรวจสอบกิจการสหกรณ์อย่างมีระบบนอกจากช่วยให้สหกรณ์ได้รับทราบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงาน นำไปสู่การปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นแล้ว สมาชิกยังมั่นใจได้ว่า มีผู้แทนทำหน้าที่สอดส่องดูแล รักษาผลประโยชน์ที่พึงได้ การตรวจสอบกิจการสหกรณ์ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลและสร้างความเชื่อถือศรัทธาต่อมวลสมาชิกสหกรณ์ในระบบสหกรณ์”