ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น: อีกก้าวของการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการจัดประชุม โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม ภายใต้คณะกรรมการฯ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลของแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ดำเนินการโดยกรมศิลปากรมีความคืบหน้าไปมาก โดยพัฒนาระบบนำเสนอข้อมูลโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ห้องจัดแสดงในรูปแบบเว็บไซต์ และ QR/AR รวมถึงพัฒนาระบบการจัดแสดงของพื้นที่ห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้เป็นแบบ Virtual Reality และนำเข้าข้อมูลในรูปแบบแอปพลิเคชัน บน Android และ iOS เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความน่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนที่เข้าใช้บริการ
ปัจจุบันมีข้อมูลที่ได้ดำเนินงาน การจัดทำข้อมูลในรูปแบบ QR/AR ของโบราณวัตถุจำนวน 1,928 ชิ้น แหล่งโบราณสถานจำนวน 383 แห่ง จัดทำแหล่งเรียนรู้สามมิติของโบราณวัตถุจำนวน 580 ชิ้น โบราณสถาน จำนวน 42 แห่ง จัดทำในรูปแบบ Virtual Reality ของโบราณวัตถุจำนวน 41 ชิ้น อุทยานประวัติศาสตร์ 12 แห่ง และจัดทำในรูปแบบ Unseen heritage หรือแหล่งโบราณสถานหรือแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ยาก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์วัดศรีชุม จ.สุโขทัย และกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา
นายวีระ ประธานอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนต้นแบบ (โรงเรียนพัทยา 11) จ.ชลบุรี โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรีได้รวบรวมข้อมูลแหล่งเรียนรู้ 10 แห่งในพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และนันทนาการ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการจัดกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนต้นแบบดังกล่าว ได้แก่ แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี , เรือหลวงจักรีนฤเบศร์ , ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ รุกขมรดกของแผ่นดินอายุกว่า 500 ปี ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก , ปราสาทสัจธรรม อาคารประติมากรรมไม้แกะสลัก , สวนนงนุช , ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ พิพิธภัณฑ์จักสานใหญ่สุดในโลก , พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย , ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง , พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน พระราชวังฤดูร้อนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบ้านร้อยเสา ตะเคียนเตี้ย บ้านเรือนไทยมีเสากว่า 100 ต้น ชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาดูงานเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยววิถีชุมชน นอกจากนี้จะสนับสนุนพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียนต้นแบบให้มีรูปแบบที่ทันสมัยโดยอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK PARK อีกด้วย