ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ
คนที่เสียชีวิตในช่วงวัย 80 ปีขึ้นไป ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถือว่าอยู่ในวัยชรา การเสียชีวิตของ ลี "สแคร็ทช์" เพอร์รี่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2021 ในวัย 85 ก็เช่นกัน
แต่การตายของ เพอร์รี่ สมควรได้รับการบันทึกไว้กับผลงานชิ้นสำคัญๆที่เขาสร้างไว้
ชื่อเต็มๆของเขาคือ เรนโฟลด์ ฮิวจ์ เพอร์รี่ เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่เมืองเคนดัล ประเทศจาเมกา เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่แวดวงเต้นรำ พกพาความฝันทางดนตรีโยกย้ายไปหลายเมือง จนในที่สุดก็เข้าสู่คิงสตัน เริ่มจากเป็นเด็กฝึกงานในห้องบันทึกเสียงใหญ่ สตูดิโอ วัน ของ คลีเมนท์ ค็อกซัน ด็อดด์
อาชีพทางดนตรีของ เพอร์รี่ เริ่มจริงๆจังๆในปลายทศวรรษ 1950 เขาเล่นและบันทึกเสียงเพลงหลากหลายให้ ด็อดด์ ร่วม 30 เพลง แต่ต่อมาก็ขัดแย้งกันทั้งส่วนตัวและเรื่องเงิน เพอร์รี่ ออกไปอยู่ อามาลกาเมท เรคอร์ดส์ ของ โจ กิบบ์ ออกผลงานในนาม ลี “คิง” เพอร์รี่ แต่อยู่ได้ระยะหนึ่งก็เกิดความขัดแย้ง เพอร์รี่ จึงตัดสินใจสร้างบริษัทเพลงของตนเองในชื่อ อัพเซ็ตเตอร์ ในปี 1968
ซิงเกิ้ลดังเพลงแรกของ เพอร์รี่ คือ "People Funny Boy" เฉพาะในจาเมกาที่เดียว ขายได้กว่า 6 หมื่นแผ่น เป็นครั้งแรกที่มีการใช้แซมเพิ่ล และการใช้จังหวะเร็วเป็นห้วงๆ ซึ่งหลังจากนั้นต่อมาอีกไม่นานกลายเป็นสิ่งที่ให้คำจำกัดความว่า “เรกเก้”
ระหว่างทศวรรษ 1970 เพอร์รี่ ออกผลงานมาเป็นระยะ และหลายเพลงของเขาได้รับความนิยมทั้งในจาเมกาและอังกฤษ แต่ในทางลึก เพอร์รี่ มีกิตติศัพท์ด้านความคิดสร้างสรรค์เท่าๆกับบุคลิกแปลกประหลาดของเขา เขาสร้างเท็คนิคใหม่ๆในการบันทึกเสียง บนเครื่องมือพื้นฐานที่ไม่มีอะไรพิเศษพิสดาร และความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นทำให้เขาได้สร้าง “ดั๊บ มิวสิค” ซึ่งกลายเป็นสไตล์ดนตรีเต้นรำหลักชนิดหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้ (dub music – การนำเสียงอีเล็คทรอนิคเข้ามาทำรีมิกซ์กับดนตรีเรกเก้ที่มีอยู่เก่าก่อน และเติมใส่เสียงร้อง เสียงดนตรีเติมเข้าไป)
เมื่อเขาสร้างสตูดิโอ แบล็ค อาร์ค บนพื้นที่สวนหลังบ้านของเขาเอง ขณะเดียวกันเขาก็ก่อตั้งสังกัดเพลง แบล็ค อาร์ค ควบคู่ไปด้วย นอกจากบันทึกเสียงงานของตนเอง เพอร์รี่ ยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินอื่นๆ ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงโด่งดัง อย่าง บ็อบ มาร์เล่ย์ แอนด์ เดอะ เวเลอร์ส, เอเดรียน เชอร์วู้ด, เดอะ แคลช, บีสตี บอยส์, จูเนียร์ เมอร์วิน, เดอะ เฮ็ปโทนส์, เดอะ คองโกส์ และ แม็กซ์ โรเมโอ
เพอร์รี่ นั่งอยู่หลังบอร์ดมิกซ์เสียงอยู่หลายปี โปรดิวซ์เพลงและอัลบั้มที่โดดเด่นในฐานะจุดสูงของประวัติศาสตร์เรกเก้ แต่เมื่อความสำเร็จมากขึ้น ความกดดันและอิทธิพลไม่พึงปรารถนาจากภายนอกก็เริ่มแสดงผล ทั้งสตูดิโอและตัวเขาเองก็ถึงเวลาต้องซ่อมแซม แต่แทนที่ เพอร์รี่ จะซ่อมบำรุง เขากลับตัดสินใจเผาสตูดิโอทิ้งเสียเอง
แต่ถึงจะไม่มีสตูดิโอแล้ว เพอร์รี่ ก็ยังทำงานดนตรีไม่หยุด ทั้งผลงานของตนเอง, ออกผลงานร่วมกับศิลปินอื่น, เป็นโปรดิวเซอร์ และตระเวนทัวร์คอนเสิร์ท โดยเฉพาะทศวรรษ 1980-1990 เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษและอเมริกา ได้รับการยอมรับนับถือจากแวดวงศิลปินอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ตัดสินใจเลิกดื่มแอลกอฮอล์และสูบกัญชา
ในปี 2003 เพอร์รี่ ได้รางวัล แกรมมี่ สาขาอัลบั้มเรกเก้ยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม Jamaican E.T. ปีต่อมา นิตยสาร โรลลิง สโตน ที่ทรงอิทธิพล จัดให้เขาอยู่ในรายชื่อ 100 ศิลปินยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ระหว่างปี 2007-2010 เขาออกอัลบั้ม 3 ชุดกับโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ สตีฟ มาร์แชล ซึ่งมี 2 ศิลปินดังคือ คีธ ริชาร์ดส์ และ จอร์จ คลินตัน เป็นแขกรับเชิญพิเศษในการบันทึกเสียง ที่สำคัญ 2 จาก 3 อัลบั้มนี้ - End of an American Dream (2008) และ Revelation (2010) – ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล แกรมมี่ ด้วย
ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2000 เพอร์รี่ และครอบครัว ไปพำนักอาศัยในสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะกลับมาอยู่ที่จาเมกา ซึ่งเขาได้รางวัลเกียรติยศมากมาย รวมถึงอิสริยาภรณ์สูงสุดลำดับที่ 6 - Order of Distinction, Commander
ดูเหมือนว่า พลังของ เพอร์รี่ นั้นล้นเหลือเกินคนปกติ เขาทำงานไม่หยุดหย่อนตลอดชีวิต แม้กระทั่ง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต เขาเพิ่งปล่อยเพลงใหม่ “No Bloody Friends” ออกมา แน่นอนว่า เป็นเพลงสุดท้ายขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่
เพียงแต่น่าเสียดาย ในยุคที่ผู้คนเริ่มไร้ราก เพอร์รี ถูกกล่าวถึงน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่เขาคือผู้บุกเบิกและได้ทิ้งมรดกทางดนตรีชิ้นสำคัญไว้ให้โลกนี้