นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ อดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) เปิดเผยว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าประเทศใดบนโลกนี้ ดังนั้น จึงไม่มีสถิติที่จะใช้อ้างอิงในการรับประกันภัย ปรากฏว่า เมื่อสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาประเทศไทย ทำให้มีการติดเชื้อกันอย่างหนักหน่วง จนทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยนี้ ขาดทุนกันถ้วนหน้า ถือเป็นบทเรียนราคาแพง ทำไม บริษัทประกันภัยถึงผิดพลาดในการรับประกันครั้งนี้ ผมขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ 1. ไม่มีสถิติใช้อ้างอิง ตามปกติ บริษัทประกันภัยจะรับประกันงานใดๆ ต้องรู้ความน่าจะเป็นในการเกิดเหตุ จะได้ตั้งราคาค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม โครงสร้างโดยทั่วไปของเบี้ยประกัน 100 บาท คาดว่าจะมีอัตราการจ่ายสินไหม 60-70 บาท จ่ายค่านายหน้าของตัวแทนและโบร์คเกอร์ 15 บาท ค่าบริหารจัดการ 5 บาท เหลือเป็นกำไร 10-20 บาท ปีที่ผ่านมา(2563) บริษัทประกันวินาศภัยขายกรมธรรม์รับประกันโรคโควิดคิดเป็นเบี้ยมารวม 4,100 ล้านบาท มีการจ่ายสินไหมไปเพียง 77 ล้านบาท ทำให้บริษัทประกันภัยย่ามใจ เหมือนเงินกำไรได้มาง่ายๆ จึงเร่งโฆษณา ทำให้มีลูกค้าสมัครเข้ามาจำนวนมาก จากปีที่แล้ว ที่มีคนสมัครเข้ามา 9 ล้านกรมธรรม์ กลายเป็น 18 ล้านกรมธรรม์ในกลางปี 2564 แต่สายพันธุ์เดลต้าติดง่ายกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่นถึง 3 เท่า กำไรจึงกลายเป็นขาดทุนอย่างมโหฬาร (ยอดสินไหมประกันโควิดเฉพาะปี 2564 นี้ จ่ายไปแล้วกว่า 3,920 ล้านบาท ยังตกค้างอีกจำนวนมาก) เรามาดูเบี้ยประกันที่บริษัทประกันภัยใช้รับประกัน ถ้าแผนเบี้ยประกัน 250 บาท หากตรวจพบโรคโควิดจ่ายทันที 50,000 บาท แต่ถ้าเบี้ยประกัน 499 บาทเจอจ่ายจบ 100,000 บาท หากเทียบเป็นอัตราส่วนแล้ว ต้องมีคนป่วยด้วยโรคโควิดน้อยกว่า 1 รายต่อลูกค้า 200 ราย หรือลูกค้าต้องป่วยน้อยกว่า 0.5% บริษัทจึงจะมีกำไร เรามาดูสถิติคนป่วยจนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 1.3 ล้านราย จากจำนวนประชากรไทยจำนวน 65 ล้านคน เทียบเท่ากับ 50 คนต่อ 1 คน หรือ 2% แต่ในความเป็นจริง คนที่ซื้อประกันโควิดส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในเมือง ในที่มีประชากรหนาแน่น มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ เช่นในกรุงเทพมีประชากร 8 ล้านคน(รวมประชากรแฝง) แต่มีผู้ที่ติดเชื้อโควิดแล้ว 300,000 ราย คิดเป็น 3.75% (นี่ยังไม่คิดถึงว่ามีคนที่ซื้อ 2-3 กรมธรรม์ต่อคนด้วย) เพียงเท่านี้ บริษัทประกันภัยก็ประเมินความเสี่ยงผิดไปถึง 7-8 เท่าแล้ว 2. ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ตามปกติ ทุนประกันที่บริษัทประกันภัยจะรับประกันนั้นต้องมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินเสมอ เช่น รถยนต์ซื้อมาหนึ่งล้านบาท มูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 8 แสนบาท บริษัทประกันภัยจะรับประกันในกรณีที่รถเสียหายหรือสูญหายสูงสุดไม่เกิน 7 แสนบาท เพื่อจูงใจให้เจ้าของรถดูแลให้ดี หากรถเสียหายทั้งหมดหรือสูญหายจะได้เงินไม่คุ้มกับที่ต้องเสียรถไป ขณะเดียวกัน หากไปรับประกันในวงเงินที่สูงกว่ามูลค่ารถยนต์ ก็อาจจูงใจให้เจ้าของทำลายรถหรือปล่อยให้รถสูญหาย เพื่อได้กำไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การตรวจสอบมูลค่าที่แท้จริงของความเสียหายของผู้เอาประกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อตอนที่เกิดโรคโควิดใหม่ๆ ความรับรู้ของคนส่วนใหญ่คือมันเป็นโรคมฤตยู หากป่วยขึ้นมา มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จึงมีการระมัดระวังป้องกันตัวอย่างดี แต่เมื่อผู้คนได้เรียนรู้ว่ามันเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายก็จริง แต่โอกาสเสียชีวิตมีเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น แถมอาการป่วยก็ไม่รุนแรงในกลุ่มวันรุ่น จึงทำให้ความระมัดระวังในการป้องกันตัวลดน้อยลง ยิ่งรัฐบาลประกาศว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด ยิ่งทำให้คนชะล่าใจ บางคนถึงกับคิดว่าติดก็ไม่เป็นไร อาการนิดหน่อย รักษาพยาบาลฟรี แถมได้เงินใช้หลักแสนบาทอีกต่างหาก จึงมีข่าวทำนองว่าบางครอบครัวติดกันทั้งบ้าน 4 คนได้เงินเกือบหนึ่งล้านบาท ซ้ำร้ายยังให้เปิดโอกาสให้ประชาชนซื้อประกันโควิดไม่จำกัดบริษัท ทำให้บางคนอาจจะซื้อถึง 4-5 บริษัท(กรมธรรม์) วงเงินรวมอาจมากถึง 400,000 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเสียหายที่ผู้เอาประกันต้องเสียไปจริง แต่ผมยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ ไม่ได้เจตนาที่จะทำให้ติดเชื้อ อาจจะมีคนไม่ถึง 10% ที่ไม่ระมัดระวัง ประกอบกับสายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายได้เร็ว ทำให้บริษัทวินาศภัยต้องรับภาระหนัก 3. ทางหนีที่ถูกห้ามใช้ มีบางบริษัทอาจจะคาดการณ์ไว้แล้วว่า การระบาดของโรคโควิดอาจจะปะทุรุนแรงขึ้นได้ จึงเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ โดยเขียนดักไว้ในสัญญาประกันภัยในหมวดการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยว่า “บริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยส่วนที่เหลือให้ ตามระยะเวลาที่ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน” แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มีการยกเลิกกรมธรรม์ของคนหมู่มากเป็นแสนๆกรมธรรม์ ที่ผ่านมามีเพียงการยกเลิกที่ใช้กับลูกค้าเฉพาะรายที่ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปฎิบัติตัวของลูกค้าเปลี่ยนไปเอง เช่น มีประวัติขับรถหวือหวา หรือดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงภัยมากขึ้นเช่น มีการตุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เมื่อความเสี่ยงภัยเปลี่ยน บริษัทก็สามารถใช้สิทธิ์ยกเลิกกรมธรรม์ได้ แต่ในกรณีนี้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการปฏิบัติตัวของลูกค้า แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จึงเกิดคำถามและความไม่พอใจจำนวนมากของประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์นี้ไว้ สุดท้ายทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)จึงได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์โควิด เพราะในแง่หลักการ การประกันภัยเกิดจากการที่ผู้รับประกันและผู้เอาประกันต่างไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้น จึงเข้าทำสัญญาประกันภัยให้แก่กันและกัน ดังนั้น เมื่อมีความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น จู่จู่บริษัทจะมายกเลิกสัญญาเพื่อเอาเปรียบลูกค้าคงไม่ได้ เพราะเวลามีความเสี่ยงต่ำ บริษัทก็ได้กำไรไป เมื่อความเสี่ยงสูง บริษัทก็ต้องรับผิดชอบขาดทุนไปด้วย นี่จึงเป็นปรัชญาของการทำประกันที่แท้จริง ถึงแม้บริษัทเหล่านี้จะเตรียมการมาดีระดับหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ตระหนักในเรื่องของจรรยาบรรณและความรู้สึกของผู้บริโภค สุดท้ายบริษัทก็ต้องกล้ำกลืนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และทำให้ขาดทุนจำนวนมาก 4. การเรียกร้องสินไหมโดยทุจริต เดิมข้อกำหนดของบริษัทประกันภัยคือ ทันทีที่ตรวจพบว่าเป็นโรคโควิดจะจ่ายเงินก้อนให้ทันที โดยต้องมีหลักฐานสองอย่างคือผลตรวจ RT-PCR โดยสถานพยาบาลเป็นบวก และใบรับรองแพทย์ แต่ช่วงที่มีการติดเชื้อกันหนักๆ ทางสำนักงานคปภ.เห็นว่า ประชาชนมีความยากลำบากในการติดต่อขอใบรับรองแพทย์ จึงออกคำสั่งให้ใช้ผลตรวจ RT-PCR จากสถานพยาบาลก็พอ ซึ่งอาจทำให้ผู้เอาประกันบางคนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สถานพยาบาล ทุจริตแปลงผลตรวจ RT-PCR ให้เป็นบวกได้ หรือแม้แต่ปลอมเอกสารขึ้นมาเอง แต่เชื่อว่าตรงนี้มีส่วนน้อยไม่ถึง 1% แต่ก็เป็นเหตุผลให้บริษัทประกันภัยใช้เป็นข้ออ้างที่จะต้องตรวจสอบให้ละเอียด แน่นอนว่าการให้แพทย์ซึ่งมีต้นทุนทางสังคมที่สูงกว่า ออกใบรับรองแพทย์นั้น ช่วยป้องกันการทุจริตได้ดีกว่า แต่ในภาวะที่แพทย์และสถานพยาบาลไม่เพียงพอ การผ่อนปรนจึงเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาล 5. การเข้ามากำกับดูแลของสำนักงานคปภ. สำนักงานคปภ.มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย และต้องตรวจสอบถึงความเพียงพอของเงินกองทุนและเงินสำรองประกันภัย หากพบว่าความเสี่ยงภัยสูงขึ้นมาก ที่อาจมีผลกระทบต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย ควรจะส่งสัญญาณให้บริษัทประกันภัยประเมินความเสี่ยงภัยให้รอบคอบ ก่อนที่จะเดินหน้ารับประกันภัยต่อไป หรือจะปรับเพิ่มเบี้ยหรือปรับเงื่อนไขการคุ้มครองให้สอดคล้องกับภัยที่เปลี่ยนไป มิฉะนั้นหากความเสียหายเกิดขึ้นจำนวนมาก บริษัทประกันภัยอาจอิดออดในการจ่ายสินไหม สุดท้ายก็เดือดร้อนไปถึงคปภ.ที่ต้องเข้ามาบังคับใช้กฏหมายให้บริษัทเหล่านี้เร่งจ่ายสินไหมอยู่ดี มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนมีความเห็นที่ชัดเจนว่า บริษัทประกันภัยต้องจ่ายสินไหมชดเชยตามที่รับประกันเอาไว้ ซึ่งล้วนมาจากความผิดพลาดในการประเมินความเสี่ยงภัยที่เปลี่ยนไป และผู้เขียนยังเชื่อว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นผู้มีความสุจริตใจในการเข้ามาทำประกันภัย เขาสมควรได้รับการชดเชยตามสัญญาประกันภัยอย่างรวดเร็ว บริษัทประกันภัยไม่สามารถอ้างว่า บริษัทมีคนไม่เพียงพอในการพิจารณาสินไหมได้ เพราะสามารถโยกย้ายเจ้าหน้าที่จากแผนกอื่นมาช่วยงานได้ในภาวะที่เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่า และเห็นควรว่าสำนักงานคปภ.ควรจะมีมาตรการในการคิดดอกเบี้ยให้ผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทประกันภัยจ่ายสินไหมล่าช้า และนี่คือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับทุกบริษัทประกันภัย ที่จะต้องตระหนักและระลึกไว้เสมอ หากยังคิดจะประกอบธุรกิจรับประกันภัยต่อไปในอนาคต