คอลัมน์ "ด้วยสมองและสองมือ"
ดอกทองกวาว หรือดอกจานในภาษาอีสาน ถือเป็นหนึ่งในพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศ ทั้งเมียนมา อินเดีย รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นพืชท้องถิ่นที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดอุดรธานีอีกด้วย ในแต่ละปีดอกทองกวาวจะบานสะพรั่งในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และดอกทองกวาวก็จะร่วงหล่นลงตามพื้น กลายเป็นอินทรีย์วัตถุสำหรับดินและต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดอกทองกวาวมีประโยชน์มากกว่านั้น
ดร.พท.ป.นรินทร์ กากะทุม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จากสารสกัดของดอกไม้ชนิดนี้ จึงนำมาวิจัยเป็นนวัตกรรมจากสารสกัดดอกทองกวาวสู่การพัฒนาสินค้าความงาม จังหวัดอุดรธานี โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ทำให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ให้วิสาหกิจท้องถิ่นสามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังได้รางวัลเหรียญเงิน จากการประกวดนวัตกรรมที่สหพันธรัฐรัสเซีย ARCHIMEDES 2021 อีกด้วย
ดร.พท.ป.นรินทร์ เล่าถึงที่มาของการเริ่มต้นวิจัยโครงการนี้ว่า มาจากการทำงานวิจัยเชิงบูรณาการของมหาวิทยาลัย ที่มีการส่งเสริมกิจการวิสาหกิจท้องถิ่นในเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดอุดรธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มหาวิทยาลัยมีศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ ประกอบกับต้นทองกวาวเป็นหนึ่งในต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกันมาช้านาน จึงได้เริ่มต้นยกระดับสินค้าจากพืชที่เห็นอยู่ทั่วไปในจังหวัด เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นด้วยการวิจัยทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพื่อให้เป็นสินค้าโอทอปเป็นของฝาก สามารถสร้างภาพจำให้กับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับดอกทองกวาวว่า เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุดรธานี
เหตุผลที่นำดอกทองกวาวมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามนั้น เนื่องจากดอกไม้ชนิดนี้มีสารเบซิลเลีย ซึ่งในประเทศอินเดียหรือมาเลเซีย ได้มีนวัตกรรมที่มีสารสกัดชนิดนี้ไปบ้างแล้ว ที่ช่วยในการบำรุงผิว ต้านสารอนุมูลอิสระ โดยการผลิตเป็นเครื่องสำอางทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากขึ้น ขณะนี้สินค้าที่ทำออกมาตัวแรกคือ "Sleeping Mask ดอกทองกวาว" เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นของใบหน้า สามารถใช้ง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ ไม่ระคายเคืองผิว จึงได้ขอทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อช่วยสนับสนุนให้เป็นการวิจัยมีผลิตภัณฑ์ออกมาให้กับวิสาหกิจชุมชน
นอกจากจะมี Sleeping Mask แล้ว ยังได้เตรียมต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางด้วย เช่น ครีม โลชั่น และเครื่องสำอางแบบเคาน์เตอร์แบรนด์ที่มีการขายในห้างสรรพสินค้า
ดร.พท.ป.นรินทร์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนที่นำสินค้ามาวางขายเพราะส่งต่อองค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนสามารถดูแลตนเองได้จากการผลิตด้วยตนเอง ที่ต้องเน้นเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย ส่วนงานทางห้องปฏิบัติการพร้อมกับการส่งเสริมการขายนั้น มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดูแล ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็พบว่ามีส่วนร่วมทำให้หลายชุมชนพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง และยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ชุมชนอื่นๆ อยากมีผลิตภัณฑ์ของตนเองนำมาวางขายเป็นผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นเหมือนกัน
ขณะเดียวงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเข้าส่งประกวดงานการประกวดนวัตกรรมที่สหพันธรัฐรัสเซีย ผ่านสมาคมนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากการประกวดในครั้งนี้ จนได้รางวัลเหรียญเงิน ซึ่งสะท้อนว่าผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์การรับรองคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ตรงตามหลักเกณฑ์การประกวดจากต่างประเทศมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทองกวาว มหาวิทยาลัยจะรับช่วงต่อ ในการต่อยอดไปยังภาคเอกชนเพื่อสั่งผลิตในรูปแบบ OEM ทำเป็นซีรีส์เครื่องสำอางออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โทนเนอร์ เซรั่ม ต่อไปในอนาคต
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-160-1343 ต่อ 14 และหมายเลข 080-572-2715