เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "#เพอร์เซเวียแรนส์ เก็บตัวอย่างหินบนดาวอังคารได้สำเร็จแล้ว รอลุ้นภาพถ่ายเพิ่มเติมเพื่อยืนยันกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้เจาะและเก็บตัวอย่างหินบนดาวอังคารได้สำเร็จ เรียกได้ว่าเป็นการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 แล้ว นับตั้งแต่ตั้งแต่ลงจอดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ข้อมูลที่ได้รับจากรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์เมื่อวันที่ 1 กันยายนนั้น ระบุว่าสามารถเจาะหินเป้าหมายอย่าง "Rochette" ได้สำเร็จ ยืนยันด้วยภาพถ่ายจากอุปกรณ์ Mastcam-Z ว่าหินบรรจุอยู่ในหลอดเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องรอภาพถ่ายที่มีความคมชัดมากขึ้นก่อนถึงจะสามารถประมวลผลตัวอย่างหินต่อได้ในขั้นตอนต่อไป เพอร์เซเวียแรนส์ใช้อุปกรณ์ขุดเจาะหินที่ติดตั้งอยู่บริเวณปลายแขนกล เพื่อเจาะและเก็บตัวอย่างหินที่มีขนาดใหญ่กว่าดินสอเล็กน้อย แล้วบรรจุเข้าไปในหลอดเก็บตัวอย่าง หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่างหินแล้ว รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ก็ได้ใช้อุปกรณ์ Mastcam-Z ถ่ายภาพตัวอย่างหินเพื่อตรวจสอบว่ามีตัวอย่างหินอยู่ในหลอดจริงหรือไม่ ภาพเบื้องต้นจากกล้อง Mastcam-Z แสดงให้เห็นส่วนปลายของตัวอย่างหินอยู่บริเวณแกนกลางภายในหลอดเก็บตัวอย่าง หลังจากถ่ายภาพนี้แล้ว รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้เริ่มขั้นตอนที่เรียกว่า "Percuss to Ingest" ซึ่งจะทำการสั่นสว่านและท่อเป็นจำนวนห้าครั้งติดต่อกัน เพื่อกำจัดเศษวัสดุที่เหลือบริเวณปากหลอด อีกทั้งกระบวนการนี้อาจทำให้ตัวอย่างสามารถเลื่อนลงไปในหลอดได้ลึกขึ้นอีกด้วย หลังจากที่รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์เสร็จสิ้นกระบวนการ Percuss to Ingest กล้องถ่ายภาพ Mastcam-Z ก็ถ่ายภาพชุดที่สอง ซึ่งภาพในชุดนี้เองที่เกิดปัญหาเนื่องจากสภาพแวดล้อมมีแสงน้อย ภาพที่ได้จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าชะตากรรมของหินที่เก็บมานั้นเป็นอย่างไร สรุปคือ... ไม่สามารถเห็นว่าหินตัวอย่างอยู่ในหลอด จนต้องอุทานว่า อ้าวว ซะงั้น การปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างหินบนดาวอังคารในครั้งนี้ ทีมงานได้กำหนดสถานที่เพื่อเก็บตัวอย่างหินเป้าหมายที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์และต้องมั่นใจว่าจะสามารถใช้งานได้จริง โดยเพอร์เซเวียแรนส์จะใช้กล้อง Mastcam-Z ถ่ายภาพหลอดเก็บตัวอย่างอีกครั้งในช่วงที่สภาพแวดล้อมมีแสงสว่างเหมาะสม ภายในวันที่ 3 กันยายน และจะส่งข้อมูลกลับมายังโลกภายในวันที่ 4 กันยายน หากผลลัพธ์ของการถ่ายภาพเพิ่มเติมนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ทีมรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ยังคงมีตัวเลือกมากมายให้เลือกใช้แก้ปัญหานี้ต่อไป ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องมือวัดปริมาตรของระบบเก็บตัวอย่าง (the Sampling and Caching System’s) เป็นการยืนยันขั้นสุดท้ายว่ามีตัวอย่างหินอยู่ในหลอด เรียบเรียง : ธราดล ชูแก้ว - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ที่มา : https://www.nasa.gov/.../nasa-s-perseverance-rover..."