โดยห่างกัน 4-12 สัปดาห์ เริ่มใช้ฉีดต.ค.นี้ พร้อมให้ฉีดวัคซีน1เข็มสำหรับคนหายป่วยแล้ว1-3เดือน เพื่อกระตุ้นภูมิไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ ส่วนคนที่ติดเชื้อแต่ฉีดครบยังไม่แนะนำให้ฉีดกระตุ้น ยืนยันว่าสูตรไขว้มีประสิทธิผลและความปลอดภัย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 3 ก.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทยว่า ขณะนี้ 1 ใน 3 ของประชาชน ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม และยืนยันว่าสูตรไขว้ชนิดวัคซีนมีประสิทธิผลและความปลอดภัย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ โดยในเดือน ก.ย.64 จะมีวัคซีนจำนวน 15 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอให้บริการประชาชน นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 (ศปก.สธ.) ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวคเข็มที่ 1 และ แอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นสูตรหลักของไทยในระยะนี้ และสูตรแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 และ ไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ระยะเวลาห่างกัน 4-12 สัปดาห์ โดยสูตรนี้จะใช้แพร่หลายในเดือน ต.ค. 64 เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าววัคซีนไฟเซอร์จะจัดส่งเข้ามาในไทย เดือนละ 10 ล้านโดส และรวมถึงสูตรฉีดกระตุ้นให้กับผู้ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม ให้ฉีดแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 3 ส่วนการฉีดให้กับผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้ว คณะกรรมการมีความเห็นตรงกันว่าหลังจากที่หายป่วยแล้วช่วง 1-3 เดือนหลังจากเคยตรวจพบเชื้อ หรือหายป่วย ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ โดยฉีดด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ โดยจะนำไปใช้กับกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโควิดมาก่อน ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วส่วนผู้ป่วยรักษาหายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ซึ่งติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย จึงยังไม่แนะนำให้ฉีดกระตุ้น สำหรับการจัดหาวัคซีนในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 นพ.โสภณ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับคนที่อยู่ในประเทศไทยให้ได้อย่างน้อย 70 % แต่ขณะนี้มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่มีศักยภาพในการติดเชื้อได้มาก ผู้ป่วย 1 รายอาจจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 7-8 ราย ซึ่ง70 %อาจจะไม่พอ ดังนั้น หากมีคนไม่ได้รับวัคซีน ไม่เคยติดเชื้อ เหลือเท่าไหร่ก็จะพยายามฉีดให้หมด ทั้งนี้เป้าหมายจะขยับเป็นมากกว่า 70 %ได้ จึงต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ จากนี้มีวัคซีน 3 ตัว คือ ซิโนแวค 12 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 43.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ส่วนกรณีที่มีการะบุว่าในการทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ ไม่ได้ตกลงเรื่องกำหนดส่งมอบวัคซีนที่ชัดเจนนั้นที่ผ่านมามีการพูดคุยและหารือเรื่องกำหนดการส่งมอบวัคซีน โดยแอสตร้าฯ เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย ในเดือน มิ.ย.64 ซึ่งวัคซีนผลิตได้สำเร็จ วัคซีนทั้งหมดได้ส่งมอบให้ใช้ในประเทศไทย จากนั้นในเดือน กค.-ส.ค. จึงเริ่มมีการส่งออกวัคซีน และในเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 แอสตราฯ ที่ผลิตในประเทสไทยจะใช้ในไทยทั้งหมด ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ได้มีการคุยกับผู้บริหารไฟเซอร์ ตั้งแต่ระยะทดลองเฟส 1-2 และมีการเจรจาเรื่อยมา กระทั่งเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย.64 โดยมีกำหนดส่งมอบวัคซีนในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ จำนวน 2 ล้านโดส จากนั้นในเดือน ต.ค.-ธ.ค. ส่งมอบอีกเดือนละ 8-10 ล้านโดส ดังนั้นใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้ แอสตราฯ และไฟเซอร์ จะเป็นวัคซีนจำนวนมากในประเทศไทย โดยคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนในอัตราที่เร็วขึ้นกว่านี้ ซึ่งฉีดได้วันละประมาณ 8 แสนโดส ส่วนการการออกสูตรฉีดไขว้ต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ใช้ต่อสู้กับไวรัส