คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี แสดงปาฐกถา เรื่อง การเสริมสร้างระบบการเรียนรู้แบบไฮบริดให้มีประสิทธิภาพสำหรับช่วงหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 (Creating an Effective Hybrid Learning for the Post-Pandemic World) ในงานประชุมสัมมนาวิชาการระดับอุดมศึกษา Education NEXT Forum 2021 จัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และสมาคมดิจิทัลไทย (DUGA) ภายใต้แนวคิดหลัก The Next Normal Education: Accelerating Research & Innovation for New Skills ซึ่งเป็นเวทียกระดับการพัฒนาศักยภาพ แลกเปลี่ยนแนวคิดผลักดันให้ระบบอุดมศึกษาไทยสามารถเพิ่มคุณภาพหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เทียบเท่าระดับนานาชาติ โดยมีผู้นำทางการศึกษาจากทั่วประเทศร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสร้างระบบการเรียนรู้แบบไฮบริด หรือ Hybrid Learning เป็นการออกแบบและจัดการเรียนรู้ผสมผสานระหว่างชั้นเรียนแบบรักษาระยะห่างในแคมปัสกับการเรียนรู้ทางไกลผ่านออนไลน์ กลายเป็นกระแสความนิยมใหม่ที่เกิดขึ้น หลังการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ทำให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกและในประเทศไทยต่างต้องหยุดการเรียนการสอนในห้องเรียนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนอย่างฉับพลันทันที โดยการเตรียมแพลตฟอร์มรองรับ ผู้สอนต้องปรับ Mindset เปลี่ยนกลยุทธ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ใหม่ ด้านผู้เรียนต้องปรับตัวในการเรียนรู้วิถีใหม่และใช้อุปกรณ์ IoT ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมและแสดงข้อคิดเห็นในชั้นเรียน ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำแนวคิด Hybrid Learning เข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติจากโควิด-19 และพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาในอนาคตเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตไปพร้อมกัน โดยจัดการเรียนการสอนในหลายรูปแบบที่สามารถปรับยืดหยุ่นผสมผสานให้เหมาะกับพื้นที่ ผู้เรียน และเนื้อหาวิชา อาทิเช่น จัดการเรียนรู้ทั้งหมดในห้องเรียน การเรียนการสอนในห้องเรียนแล้วลงมือทำด้วยตนเองที่บ้าน การเรียนการสอนออนไลน์ที่บ้านแล้วลงมือทำที่ห้องเรียน การเรียนรู้ผ่านคลิปวีดีโอที่บันทึกไว้ร่วมกับการเรียนทางไกล การแบ่งผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียนที่ห้องเรียนและถ่ายทอดสดให้อีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ที่บ้านได้เรียนรู้เพื่อลดความแออัดในสถานศึกษา การผสมระหว่างเรียนออนไลน์ที่บ้านกับสถานศึกษา หรือการเรียนแบบ Live-Streaming ควบคู่กันไปกับการสอน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และช่วยแก้ไขปัญหาพัฒนาการเรียนให้เกิดประสิทธิภาพ เหล่านี้ถือเป็นการบริหารจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ของวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผสมผสานการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีและเครือข่ายโทรคมนาคม สามารถเรียนในห้องเรียนก็ได้ ออนไลน์ก็ได้ คนละที่หรือที่เดียวกันก็ได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนและการเรียนรู้ ส่วนการวัดประเมินผลการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid Learning) สามารถทำได้หลายด้าน เช่น ด้านสถิติบนแพลตฟอร์ม พิจารณาความเสี่ยงต่อสุขภาพ ประสบการณ์ของครู กิจกรรมและสมรรถนะของผู้เรียนในการเรียนทางไกล ด้านการดูแลสุขภาพ จากความก้าวหน้าของหลักสูตร การมีส่วนร่วมของผู้เรียน การมอบหมายงาน ผลการเรียน ด้านการสำรวจครู พิจารณาจากสุขภาวะของผู้เรียน ความพึงพอใจ ด้านการสำรวจผู้เรียน พิจารณาการเข้าถึงได้ครอบคลุม คุณภาพของการถ่ายทอดความรู้ เป็นต้น โลกการศึกษาในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เพียงแต่นำแนวคิดและพัฒนา Hybrid Learning เข้ามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยโดยยึดหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังดำเนินการพร้อมไปกับการยกระดับคุณค่าและคุณภาพทุกหลักสูตรของคณะวิศวะมหิดลให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการบ่มเพาะและผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานของโลกโดยสอดรับกับทิศทางในการพัฒนาของประเทศไทยและประชาคมโลก โดยขณะนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโมเดลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยได้นำทุกหลักสูตรกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการรับรองมาตรฐานการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) จากคณะกรรมการ The Engineers' Council for Professional Development (ECPD) ประเทศสหรัฐอเมริกา ครบเกือบทุกด้าน ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คนไทยและประเทศไทยจะได้รับจาก ABET คือ 1.สร้างเสริมคุณค่าความเป็นระดับโลก หลักสูตรการศึกษาที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานคุณภาพ ABETเทียบเคียงกับนานาชาตินั้น จะสามารถขยายความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานระดับสากลเช่นกัน ส่งเสริมโอกาสในการเข้าศึกษาต่อของนักศึกษาในนานาประเทศที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาภายใต้ข้อตกลงในระดับนานาชาติร่วมกันทั้งในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก และที่สำคัญคือ ผู้จบการศึกษาได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานสู่ตลาดแรงงานทั่วโลกโดยสามารถทำงานในประเทศไทยและในนานาประเทศได้ 2.ABETเพิ่มคุณค่าแก่สถาบันการศึกษา เนื่องด้วยการได้รับรองจาก ABET เป็นการทำให้ผู้เรียน เครือข่ายพันธมิตรและคนในวิชาชีพได้ตระหนักว่า สถาบันการศึกษานั้นได้รับการยอมรับระดับนานาชาติแล้ว มีการส่งเสริมการดำเนินงานที่ดี (Best Practices) ทั้งยังกระตุ้นให้คณะและทีมงานเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษามุ่งมั่นการประเมินตนเองและดำเนินกระบวนการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ "ผลลัพธ์ของการเรียนรู้" มากกว่า "การสอนแบบป้อน" ตลอดจนผู้เรียนสามารถโอนเครดิตการเรียนได้อย่างง่ายดาย นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาที่เชื่อมต่อสู่โลกกว้างของการเรียนรู้ในนานาประเทศอย่างแท้จริง ในงาน Education NEXT Forum 2021 นี้ มีคุณกัลยา แสวงหาบุญ เลขาธิการสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีผู้ร่วมงานจากหลายองค์กรการศึกษาและผู้ที่มีชื่อเสียงร่วมปาฐกถา อาทิ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ในหัวข้อ Upskilling for Research and Innovation Disruption: New Learning for Working Future ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ Designing for an Individual Self-Learning Experience