จาก แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ ปี 2566 – 2570 ให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม โดยมีเป้าหมายหลักคือ การพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยเพื่ออนาคต ที่ดีกว่าสำหรับทุกคน ภายใต้วิสัยทัศน์ การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม ซึ่ง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สะท้อนแนวทางไว้อย่างน่าสนใจ สาระสำคัญของแผนฯฉบับที่ 3 โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ว่า ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงทุกรูปแบบ และพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ พัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความทันสมัย ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การยกระดับบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ เข้าใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทของการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบูรณการร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ดังกล่าว ซึ่งแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังและระดมความคิดเห็นจากมีผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค โดย แผนพัฒนาดังกล่าว เป็นแผนระดับ 3 ที่มีความครอบคลุม เชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นด้านท่องเที่ยว รวมถึงร่างกรอบและทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ยังคงมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยวเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ อีกทั้ง นายพิพัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า หลายๆ ประเทศในโลกไม่มีสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ไทยมี ในโลกนี้ มีเพียง 20 - 30 ประเทศเท่านั้น ที่สามารถใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ ดังนั้น การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นสินทรัพย์ ที่สำคัญของชาติต่อไป ทุกภาคส่วนจึงควรจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้แก่การท่องเที่ยวของไทย และก่อให้เกิดมูลค่าเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน สำหรับ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จะแตกต่างจากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมา คือ (ร่าง) แผนฉบับนี้ได้ครอบคลุมถึงหลักการของความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน SDGs ของประเทศไทยได้ครบทั้ง 17 เป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนกรอบแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 สู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเท่าเทียม การมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่การเป็น Hi-Value and Sustainable Thailand หัวใจหลักของการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งหัวใจหลักของการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็ง ต่อยอดการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดรับกับภาวะความปกติถัดไป เพื่อการเติบโตอย่างครอบคลุม ด้วยการพัฒนาแบบองค์รวม โดยจะเป็นการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการท่องเที่ยวมีความเข้มแข็งและสมดุล การยกระดับความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อมั่นและมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวคุณค่าสูง และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมที่ประชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน เศรษฐกิจฟื้นตัว ตลอดจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน