นางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับลูกหนี้ ซึ่งประกอบด้วยการลดค่างวด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การเปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว การพักชำระค่างวด การพักชำระเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และการพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย โดยข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แจ้งเข้าร่วมมาตรการตามที่ สศค. ขอความร่วมมือเป็นจำนวนทั้งสิ้น 288 ราย คิดเป็นจำนวนบัญชีที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งสิ้น 9,807 บัญชี ทั้งนี้ จังหวัดที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (2,393 บัญชี) ชัยภูมิ (608 บัญชี) สุรินทร์ (554 บัญชี) ขอนแก่น (533 บัญชี) และมหาสารคาม (519 บัญชี) สำหรับภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 995 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (584 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (164 ราย) ภาคเหนือ (129 ราย) ภาคตะวันออก (66 ราย) และภาคใต้ (52 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 586,683 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 13,401.63 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 22,843.05 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ 1. สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 886 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 853 ราย ใน 74 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (79 ราย) กรุงเทพมหานคร (67 ราย) และขอนแก่น (51 ราย) 2. สินเชื่อประเภทพิโกพลัส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 157 ราย ใน 49 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 142 ราย ใน 45 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (22 ราย) อุดรธานี (9 ราย) อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 8 ราย) 3. ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 206,459 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 4,353.13 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 28,402 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 632.47 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.53 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 33,660 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 769.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.67 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,773 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 177 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่ • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 • ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344