วันที่ 1 ก.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว และฤดูฝนในปีนี้คงเหลือเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น แต่ปริมาณน้ำต้นทุนยังอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งในหลายพื้นที่ยังมีปริมาณฝนไม่เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ตลอดจนแหล่งน้ำต่างๆ และลุ่มน้ำสำคัญ โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงมาสู่ลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่การเกษตรแหล่งใหญ่และแหล่งสำคัญ และพี่น้องประชาชนที่อยู่ในลุ่มเจ้าพระยายังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับเหล่าทัพ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ ยังคงติดตามสภาพอากาศและเร่งวางแผนช่วยเหลือในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอ โดยจากผลการปฏิบัติฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำพูน เชียงใหม่ พิจิตร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง
ส่วนด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พะเยา จ.เชียงใหม่
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ตาก จ.ลำปาง จ.กำแพงเพชร จ.ลำพูน
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.สระบุรี
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม จ.สุรินทร์
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์
สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อื่นๆ จะยังคงติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100