จากกรณีคดี ผู้กำกับโจ้ คลุมถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาเพื่อเค้นข้อมูล จนทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Ronnakorn Bunmee ระบุว่า...เอาถุงคลุมหน้าเพื่อบังคับให้ผู้ต้องหาให้ข้อมูล เป็นการกระทำด้วยเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลหรือเจตนาทำร้ายร่างกาย? ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงในข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจกันอยู่นี้ยังไม่นิ่งว่าเป็นอย่างไร แต่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้ความแตกต่างขององค์ประกอบภายในทางอาญา แม้ดูจากภายนอก การทำให้คนอื่นตายก็เป็นการฆ่าคนเหมือน ๆ กันหมด แต่ในทางกฎหมายสิ่งที่จำเลยคิดอยู่ในใจขณะที่กำลังกระทำการดังกล่าวนั้นจะส่งผลที่แตกต่างกันอย่างมากต่อความรับผิดของจำเลย โดยมีความเป็นไปได้ 4 ประการ 1. จำเลยมุ่งหมายให้ผู้เสียหายตาย เราเรียกว่าการฆ่าโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผล ความรับผิดจะเป็นมาตรา 288 จำคุกตั้งแต่ 15 ปี และสูงสุดที่ประหารชีวิต โดยถ้ามีเหตุฉกรรจ์อื่นเช่นทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือทำให้ผู้เสียหายตายโดยทรมาน โทษก็จะเป็นประหารชีวิตสถานเดียว 2. จำเลยไม่ได้ประสงค์ต่อความตาย แต่ "เล็งเห็น" (อธิบายด้านล่าง) ได้ว่าทำไปแล้วผู้เสียหายจะตาย อย่างนี้แม้ไม่ได้อยากฆ่า แต่กฎหมายก็จะลงโทษและจัดให้เป็นความผิดที่ร้ายแรงระดับเดียวกันกับกรณีที่ 1 3. จำเลยไม่ได้ประสงค์จะทำให้ตาย เพียงต้องการทำร้าย แบบนี้จะเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 จำคุก 3-15 ปี และถ้ามีเหตุฉกรรจ์โทษสูงสุดก็จะเป็น 20 ปี 4. จำเลยไม่ได้ต้องการฆ่า ไม่ได้ต้องการทำร้าย เพียงแต่กระทำการโดยประมาท ไม่ใช่ความระมัดระวังให้ดีไปทำให้คนอื่นตาย แบบนี้จะเป็นความผิดตามมาตรา 291 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ไม่มีโทษขั้นต่ำ และไม่มีกรณีเพิ่มโทษเพราะเหตุฉกรรจ์แต่ประการใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าเมื่อเป็นการทำเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ยังต้องการให้ผู้เสียหายมีชีวิตเพื่อให้พูด จำเลยจึงไม่ได้กระทำโดยมุ่งประสงค์ต่อความตายของผู้เสียหาย จึงตัดกรณีที่ 1 ไป ส่วนกรณีที่ 4 ก็อยู่นอกขอบเขต เพราะชัดเจนว่าจำเลยกระทำโดยมุ่งให้เกิดผลเสียกับผู้เสียหาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่มีเจตนา จึงเหลือความเป็นไปได้ของกรณี 2 และ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกฎหมายยังเห็นไม่ตรงกัน และด้วยความที่เรามีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน จึงไม่เหมาะสมและไม่สามารถที่จะวินิจฉัยให้ชัดลงไปได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือข้อถกเถียงความแตกต่างระหว่างกรณี 2 และ 3 ว่าต่อให้ข้อเท็จจริงนิ่ง แต่ทำไมนักกฎหมายถึงคิดไม่เหมือนกัน สาเหตุก็เพราะคำว่า "เล็งเห็นผล" คำว่า "เล็งเห็นผล" ในกรณีที่ 2 นั้นนักกฎหมายมีความเห็นต่างกันเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเห็นว่าการกระทำโดยเล็งเห็นผลคือกรณีที่ผู้กระทำเล็งเห็นด้วย "ตนเอง" ว่าการกระทำของตนจะเกิดผลที่กฎหมายห้ามอย่าง "แน่นอน" หลักการนี้ไม่ได้พิจารณาว่าผู้กระทำควรต้องเล็งเห็นได้โดยเอาไปเทียบกับคนทั่ว ๆ ไปหรือที่เรียกว่าวิญญูชนว่าคนทั่วไปก็ย่อมเล็งเห็นได้ แต่เพ่งไปที่จิตใจผู้กระทำเลยว่าเค้าคิดหรือไม่ว่าการกระทำของเค้าจะก่อให้เกิดผลเช่นนั้น (กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา) และในความคิดของผู้กระทำผลที่จะเกิดนั้นต้องเกิดอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพียงอาจจะเกิด น่าจะเกิด หรือมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะเกิด แต่ต้องเป็นกรณีที่ต้องเกิดผลเช่นนั้นแน่ ๆ หลักการนี้ถูกใช้ในประเทศอังกฤษ และถูกสอนโดยศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เพื่อแยกการกระทำที่เป็นการประมาทโดยจงใจออกจากการกระทำด้วยเจตนาเล็งเห็นผล รศ.ปกป้อง ศรีสนิท ตั้งข้อสังเกตว่าคำพิพากษาฎีกาในสมัยก่อนจะเคร่งครัดกับคำว่า "แน่นอน" หรือที่กฎหมายใช้คำว่า "ย่อม" เมื่อกล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลย (23/2513 รู้ดีว่ามีคนอยู่ในเรือ ย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำ เป็นพยายามฆ่าคนโดยเจตนา, 818/2514 โดยมิได้คำนึงว่ากระสุนปืนจะไปถูกผู้ใดเข้า จำเลยย่อมเล็งเห็นผลที่จเกิดขึ้นจากการกระทำของตน") โดยศ.จิตติ เห็นว่าคำพิพากษาที่ถือเอาหลัก "อาจทำให้เกิดผลได้" อย่างฎีกาที่ 2236/2527 เป็นการตีความที่กว้างเกินไป ในขณะเดียวกัน นักกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เพียงแค่ผู้กระทำมีความคิดว่าผล "อาจ" จะเกิดขึ้นได้จากการกระทำของตนก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผล ซึ่งเป็นแนวทางการตีความของศาลในประเทศอังกฤษแต่เดิมก่อนที่จะปรับมาเป็นแนวที่ 1 ในปัจจุบัน ด้วยผลของการตีความในกลุ่มที่ 2 เช่นนี้ทำให้เจตนาเล็งเห็นผลขยายขอบเขตอย่างกว้างขวางออกไปอย่างมาก โดยศาลฎีกาในช่วงหลังมีแนวโน้มที่ขะตีความเล็งเห็นผลไปในแนวทางของกลุ่มที่ 2 นี้ (7669/2549 จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนอาจลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ชีวิตได้, 327/2540 ย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจเป็นต้นเหตุให้เด็กตายได้, 16412/2555 การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้) การตีความที่แตกต่างกันนี้ส่งผลอย่างมากต่อความเข้าใจและการตีความกฎหมาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยความผิดและระวางโทษที่จำเลยจะได้รับ ส่วนตัวผมเห็นว่าการตีความตามแนวทางแรกน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะแท้จริงแล้วจำเลยไม่ได้มีเจตนาให้เกิดผลเช่นนั้น กฎหมายเพียงขยายขอบเขตของเจตนาออกไป การตีความที่เป็นโทษจึงต้องตีความอย่างจำกัด และประมวลกฎหมายอาญาเลือกที่จะบัญญัติคำว่า "ย่อมเล็งเห็นผล" ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายลักษณะอาญาเดิมในมาตรา 43 ที่ใช้คำว่า "อาจจะแลเห็นผล" แสดงให้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายประสงค์จะให้การเล็งเห็นผลนั้นต้องมีความแน่ชัดว่าผลจะเกิดขึ้น นอกจากนั้น ผมเห็นว่าการตีความกลุ่มที่ 2 ที่หลวมคลายความแตกต่างระหว่างเจตนาและประมาทออกไปนั้น จะเกิดผลที่แปลกประหลาด หรือคลุมเครือไม่สิ้นสุด เช่นกรณีเมาแล้วขับหากตีความว่าจำเลยเล็งเห็นได้ว่าการขับรถของตนเป็นอันตราย "อาจ" จะทำให้เกิดความตาย ดังนี้มิเท่ากับว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าทันทีที่เมาแล้วขับหรือ? วกกลับไปที่เรื่องเอาถุงคลุมหน้า และคนตายผู้กระทำมีเจตนาฆ่าหรือทำร้าย ถ้านักกฎหมายที่ยึดตามแนวที่ 1 ก็อาจตอบว่ากรณีนี้เป็นการทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ตายตามมาตรา 290 เพราะผู้กระทำซึ่งชำนาญทำมาหลายครั้ง และต้องการได้ข้อมูล ย่อมไม่ได้เล็งเห็นได้ว่าการกระทำของตนจำทำให้ผู้เสียหายตายได้อย่างแน่แท้ จึงไม่ได้ทำไปโดยเจตนาฆ่า แต่หากยึดถือเอาแนวที่ 2 ก็ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวใคร ๆ ก็รู้ว่าอาจทำให้ตายได้ เมื่อทำไปย่อมต้องถือว่าการฆ่าโดยเจตนาประเภทเล็งเห็นผล คดีในลักษณะเดียวกัน ที่ผู้ต้องหาถูกตำรวจใช้ถุงคลุมหน้าเพื่อให้รับสารภาพและให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่โชคดีที่ผู้เสียหายไม่เสียชีวิต ศาลจังหวัดปราจีนบุรี และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าตำรวจยศ พ.ต.ท (ในขณะนั้น) มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำอันตรายต่อเสรีภาพ เป็นพนักงานสอบสวนใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลอื่นให้ต้องรับโทษทางอาญา พิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 8,000 บาท แต่จำเลยมีประวัติดี ให้รอลงอาญาไว้ก่อน รายละเอียดอ่าน https://prachatai.com/journal/2019/11/85139 นอกจากนั้นยังมีอีกคดีที่มีการทรมานผู้ต้องหาโดยการใช้ไฟฟ้าช๊อต ซึ่งศาลฎีกาก็ตัดสินให้ พล.ต.ต.ท่านหนึ่งผิดในข้อหาเดียวกันคือทำร้ายร่างกาย และใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้ง เพียงแต่ลงโทษจำคุกถึง 15 ปี โดยไม่รอลงอาญา รอดูว่าจำเลยคดีนี้จะให้การอย่างไร ทนายความจะสู้คดีอย่างไร และศาลจะตัดสินอย่างไร ขอให้เจ้าพนักงานทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ทราบว่าไม่เพียงประชาชนคนไทยจับตามองคดีนี้ แต่ประชาคมนานาชาติก็จับตามองเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะนี้คือคดีทรมานที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุด และเป็นการละเมิดพันธกรณีที่เราเป็นภาคีมาร่วม 14 ปี ถ้าเราแค่ตีข้อมือและปล่อยกลับบ้านไป หรือเพียงลงโทษนิด ๆ หน่อย ๆ โดยไม่มีคำอธิบายที่ดี จะกระทบต่อต้นทุนความเชื่อมั่นที่สังคมมีให้กับกระบวนการยุติธรรมที่เหลือน้อยลงทุกวันอย่างรุนแรงเหมือนต่อคดีบอส อยู่วิทยาอย่างแน่นอน ปล. ตกลง ไม่รีดไถเงินกรรโชกทรัพย์แล้วเหรอ ถ้ารีดเงินนั้น ลงโทษได้สูงสุดถึงประหารชีวิตได้โดยไม่ต้องดูเจตนาฆ่า เจตนาทำร้ายร่างกายเลยนะครับ