เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว แต่น้ำที่ลงเขื่อนต่างๆ ยังมีปริมาณน้อยอยู่มาก พื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอ ตั้งท้อง และออกรวงต่อไป ถือเป็นช่วงที่ต้องการใช้น้ำปริมาณมาก แต่ในหลายพื้นที่ยังคงมีน้ำไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ได้มีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน และวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตรให้มากที่สุด โดยจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สิงห์บุรี เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สระแก้ว ราชบุรี รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้เขื่อน จำนวน 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง จากแผนที่อากาศผิวพื้นกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อวานนี้ (26 ส.ค.64) มีร่องฝนหรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านพื้นที่ภาคเหนือไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แต่ในวันนี้ได้ขยับลงมาในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกไปทางประเทศกัมพูชา ในบริเวณร่องฝนหรือร่องความกดอากาศต่ำอากาศจะลอยตัวได้ดี และจะทำให้มีอากาศค่อนข้างร้อนกว่าพื้นที่โดยรอบ ส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดนดูดเข้าไปในพื้นที่บริเวณร่องฝน ซึ่งในพื้นที่ลมชั้นบนจะเป็นลักษณะแนวโค้งจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางทิศเหนือ ทำให้โอกาสที่จะมีฝนในวันนี้ค่อนข้างมาก โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนบางพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงฝนตกหนักมาก บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติดตามข้อมูลจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด สำหรับการตรวจวัดสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงในวันนี้ พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ - หน่วยฯ จ.ลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี จ.นครสวรรค์ จ.สระบุรี จ.สิงห์บุรี พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยนาท จ.อุทัยธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคกลาง - หน่วยฯ จ.ขอนแก่น ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.สกลนคร จ.หนองบัวลำภู - หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี พื้นที่เป้าหมายรอง คือ พื้นที่การเกษตร จ.ยโสธร อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อีก 10 หน่วย จะยังคงติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ซึ่งพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account: @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100