ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง-แดง มีอัตราการรอเตียงนาน 24 ชม.มีจำนวนไม่มากแล้ว ห่วงผู้ป่วยสีเหลืองเริ่มมีอาการแต่ไม่ยอมไปรพ.แต่ก็มีภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วย เมื่อมีคนไข้ไม่อยากมารพ.ก็ร่วมกันเอาออกซิเจนไปให้ที่บ้าน แต่หากหมอแนะให้เข้ารับการรักษาในรพ.ขออย่าปฏิเสธ
26 ส.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวประเด็น การบริการจัดการเตียง ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มคงที่โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อ 18,501 ราย แต่มียอดหายป่วยเยอะกว่าอัตราการติดเชื้อใหม่ ทำให้สถานการณ์เตียงดีขึ้น ประกอบกับมีการเปิดระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการตรวจ และจับคู่สถานพยาบาลเพื่อดูแล ติดตามได้เป็นอย่างดี ถือว่าระบบค่อนข้างไหลลื่นมากกว่าช่วงเริ่มต้น
โดยเฉพาะสถานการณ์ในพื้นที่กทม. ยังพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 4 พันกว่ารายจากการค้นหาทุกรูปแบบ มีผู้ติดเชื้อยินยอมเข้าระบบกักตัวที่บ้าน Home Isolation หรือ HI ประมาณวันละ 1 พันราย ส่วนใหญ่สามารถจับคู่สถานพยาบาลเพื่อรับการดูแลได้ ส่วนการกักตัวในชุมชน หรือศูนย์พักคอย (Community Isolation หรือ CI) ขณะนี้สามารถเปิดให้บริการ 64 แห่ง จาก 70 แห่งมีการนำเข้าผู้ป่วยมาดูแลวันละประมาณ 200-300 ราย ปัจจุบันมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 3,410 ราย ที่เหลือเข้าฮอทพิเทล หรือ รพ. ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาล อย่างไรก็ตามผู้ที่แยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชน HI/CI ต้องปฏิบัติตามกฎ 7 แยก คือ แยกนอน แยกกิน แยกอยู่ แยกของใช้ แยกทิ้ง แยกห้องน้ำ และแยกอากาศ เพื่อให้เชื้อไม่แพร่ไปสู่คนอื่น หากทำไม่ได้จึงให้มาอยู่ที่ศูนย์พักคอย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การรอเตียงของผู้ป่วยอาการสีเหลืองดีขึ้นเยอะ ส่วนสีแดงยังต้องรอคอยอยู่ เพราะกทม.ยังมีอัตราการติดเชื้อใหม้ประมาณ 4 พันคนต่อวัน สิ่งที่กังวลคือ ไอซียูไม่พอ จึงต้องบริหารจัดการให้ดี ต้องดูวันต่อวัน นอกจากนี้ยังพบปัญหาอาการของผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านบางรายอาจจะอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนๆได้ ออกซิเจนเริ่มลดลง จึงอยากให้เข้ารับการรักษาในรพ.แต่ผู้ป่วยไม่อยากไปรพ.เพราะรู้สึกว่าอยู่ที่บ้านนั้นปลอดภัยดี ได้ยาจำเป็นแล้ว อาการไม่มาก แต่ก็ต้องย้ำว่าหากแพทย์แนะนำให้มาก็ขอให้มา เพราะตอนนี้เตียงสีเหลืองเราบริหารได้ดีขึ้น และภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วย เมื่อมีคนไข้ไม่อยากมารพ.ก็ร่วมกันเอาออกซิเจนไปให้ที่บ้าน แม้กระทั่งสีแดงก็มีบางส่วนที่ปฏิเสธการมารพ. เช่น บางคนป่วยติดบ้าน ติดเตียงแล้วเกิดติดโควิด บางคนอายุมากและมีโรคร่วม บางคนก่อนติดโควิด มีการทำหนังสือแสดงความจำนงไม่รับการรักษา ที่เราทำคือมีสมาคมดูแลระยะท้ายไปให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดย นำออกซิเจน ให้ยาแก้ปวดที่บ้านเพิ่มเติม
สำหรับข้อสงสัยกรณีรายงานยอดผู้หายป่วยแล้วนั้นหายแล้วจริงหรือไม่ เนื่องจากมีการจำหน่ายออกจากสถานพยาบาลหลังอยู่ครบ 10 วันเท่านั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยที่อยู่รพ. หรืออยู่ในการดูแลของบุคลากรการแพทย์ แล้ว 10 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับมาพักต่อที่บ้านอีก 4 วัน ซึ่งต้องย้ำว่าแม้จะออกจากรพ.มา 10 วันแล้ว เราจะยังจำหน่ายออกว่าเป็นผู้หายป่วยแล้ว จะไม่ประกาศเป็นผู้หายป่วยในอินโฟกราฟฟิกที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ตัวเลขที่เห็นเผยแพร่นั้น ย้ำว่าผ่านการรักษาจนครบกำหนดถ้วนระยะเวลาการรักษาแล้ว