บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ช่วงนี้ยอดสถิติ "โควิด-19" น่าห่วงมาก พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มวันละสองหมื่น ผู้เสียชีวิตวันละ 200-300 คน ตอกย้ำถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยรวมของประเทศไทยที่วิกฤติ และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไทยติดโควิดสะสมตั้งแต่ปี 2563 ถึงกว่าล้านราย การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ภาพสะท้อนการต่อสู้โรคภัยโควิด ขออนุญาตนำคำกลอนที่มีผู้แต่งไว้อ่านแล้วดี จึงขอเผยแพร่ "(1) ขอโทษที่ทำทุกอย่างสุดสามารถ ยังมิอาจเก่งกาจดั่งคุณหวัง (2) ขอโทษที่พวกเราไม่ระวัง เผลอพลาดพลั้งติดโควิดไม่ตั้งใจ (3) ขอโทษที่ mask ไม่พอเราเลยเสี่ยง (4) ขอโทษที่มิคิดเกี่ยงเสี่ยงก็ไหว เป็นด่านหน้าที่พวกคุณมิเคยไป มิปลอดภัยเราก็รู้แต่ก็ยอม ทหารมีเกราะกระสุนอาวุธครบ แต่เรารบโดยไร้เครื่องถนอม เงินค่าเสี่ยงมิมีได้เราอดออม และเราพร้อมต่อสู้เพื่อคนไทย เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์มาก่อนไหม จรรยาบรรณที่คุณคงมิเข้าใจ คุณถึงได้พูดทำลายบั่นใจเรา ก็สุดแล้วแต่อำนาจคุณจะ "หวด" เราเจ็บปวดอดกลั้นสุดเหี่ยวเฉา แต่กล้ำกลืนฮึบสู้ต่อเจ็บทนเอา ใส่กาวน์เก่ารบไร้เกราะ ป้องโรคภัยเราจะสู้สู้จนสุดความสามารถ มิเก่งกาจแต่สู้ตายมิหนีไหน เพราะถูกสอนต้องสละทั้งกายใจ สู้แบบไร้อำนาจใดไร้เครื่องมือ" บทประพันธ์โดยนิรนามนี้สื่อสะท้อนการทำงานท่ามกลางภาวะวิกฤติในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี จะทำอย่างไรให้คนไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ทางสาธารณสุขที่ปลอดภัยที่สุด เสียงตำหนิท่ามกลางวิกฤติปัญหาโควิดและวิกฤติการเมืองอย่างร้อนแรงในช่วงนี้ เป็นโจทย์คำถาม “ความเป็นอยู่ของคนไทย” (Well being) จะดีขึ้นได้อย่างไรบ้างโดยเฉพาะด้านการอาชีพ รายได้ และการสาธารณสุข เสียงเรียกร้องต่างๆ นานา ด้วยผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลาง แม้แต่ธุรกิจรายใหญ่ได้รับผลกระทบหมด ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง (Liquidity) การลงทุนหดหาย การท่องเที่ยวหาย ภาคการเกษตรก็แย่ เช่น อยากได้มืออาชีพที่ดีมาบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ จะมีมาตรการแก้ไขการตกงาน ว่างงาน ไม่มีอาชีพ หนี้ครัวเรือนที่สูง ไม่มีรายได้ของคนรากหญ้าได้อย่างไร เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญที่ไม่นับเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นกำลังทำลายระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ใครกันแน่เป็นบุคลากรด่านหน้าในท้องถิ่น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าท้องถิ่น หรือ อปท.มิใช่ปราการ “ด่านหน้า” ในการต่อสู้กับ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (COVID-19) หากเป็นสงครามรบกันก็เรียกว่าอยู่แนวหน้า (Front Line) ที่พร้อมจะผจญต่อสู้กับศัตรู (เชื้อโรค) ได้ โดยมียุทธวิธี เครื่องไม้เครื่องมือ งบประมาณ และบุคลากรที่ขาดๆ เกินๆ ในการต่อสู้ เพราะท้องถิ่นแต่ละประเภทแต่ละภูมิภาค มีความแตกต่างกัน เช่น ขนาด ภูมิประเทศ หรือความเป็นเมือง ความเป็นชนบทต่างกัน ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ อปท.มี “ความเหลื่อมล้ำ” (Inequality) ที่แตกต่างกัน ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการ (Management/Administration) ในการจัดทำ “บริการสาธารณะ” (Public Service) และ "กิจกรรมสาธารณะ" (Public Activity) อย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพ และความพึงพอใจ (Satisfying) ที่แตกต่างกันไป จะเรียกว่าอะไรก็สุดแล้วแต่ เจ้าหน้าที่หน้างาน, บุคลากรด่านหน้า, พนักงานบริการส่วนหน้า (Frontline employee) พระ สัปเหร่อ กู้ภัยเก็บศพ พนักงานรับส่งผู้ป่วย พนักงานเก็บขยะ ฯลฯ เพราะพวกเขาเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง นี่ยังไม่รวมบุคลากรนอกแถว ไรเดอร์ส่งอาหารตามสั่งที่เสี่ยงเช่นกัน ลองย้อนติดตามดูข่าว ด่านหน้ามีแต่เรื่องของหมอๆ ไม่มีท้องถิ่นเลย คำว่า “คนด่านหน้า” คงมิใช่คนเฉพาะ “หน้าด่าน” หรือ “คนทำงานด่านหน้า” (front-line workers) หรือ “แผนกบริการด่านหน้า” เท่านั้น หากจะเปรียบก็เหมือน “ทหารแนวหน้า” (front-line) ที่พร้อมจะตาย ในบริบทของท้องถิ่นหมายรวมถึง การทำงานเชิงรุกของคนท้องถิ่นในทุกรูปแบบเพี่อแก้ไขปัญหาโควิด เช่น การแจกจ่ายอาหารให้ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยง, การรับส่งผู้ป่วย หรือคนไป รพ. ไป CI กลับบ้าน, การรับศพคนป่วยตาย, การส่งศพเผา, การอยู่เวร CI, LQ, การเก็บขยะติดเชื้อ ฯลฯ เป็นต้น เหล่านี้ หากไม่เรียกว่า “คนด่านหน้า” จะให้เรียกว่าอะไร เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในการติดเชื้อมาก กระทรวงสาธารณสุขทำดีมี โครงการฟรอนต์ไลน์ สเตย์ (Frontline Stays) สนับสนุนที่พักที่ปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ และอสม. ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคโควิดด้วย จึงเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ต้องได้รับวัคซีน แต่ข้อเท็จจริง คน อปท. ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ โดยเฉพาะวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ที่มาใหม่ เพราะแม้บุคลากรบางรายอาจได้รับวัคซีน Sinovac ไปแล้วก่อนหน้า หากบุคลากรด่านหน้าที่ภูมิคุ้มกันเริ่มหมดเพราะฉีดวัคซีนมานานแล้ว วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญสู้โควิดได้เหมือนบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน เช่น วัคซีนบูสเตอร์โดสไฟเซอร์ (Pfizer)เข็ม 3 (กระตุ้นเข็มที่ 3) คนท้องถิ่นคือบุคลากรด่านหน้า คือด่านหน้าสู้โควิด ในการปฏิบัติงานหน่วยงานสาธารณสุขจะมีเอกสารแจ้งการประเมินว่าใครเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว อบต., เทศบาลจึงจะมีคำสั่งให้กักตัว หรือ ให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home : WFH) ได้ ส่วนการปฏิบัติงานทั่วไป อปท. จะมีแต่คำสั่งตั้ง LQ และแต่งตั้งคนทำงาน เพราะอยู่ในอำนาจของ อปท. หาก อปท.ใดมีสถานบริการสาธารณสุข เช่น เทศบาลเมือง เทศบาลนคร อาจมีการจัดตั้งศูนย์พักคอย (CI) ที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายร่วมกับ รพ. เรากำลังย้อนมาดูสภาพปัญหา อุปสรรค ประสิทธิภาพ ในเรื่องต่างๆ ที่ถั่งโถมประดังมาสู่ภาระหน้าที่ของท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ อปท.เริ่มผจญแบกภาระมาตั้งแต่ต้นปี 2563 นี่ก็ร่วมปีเศษๆ มาถึงปัจจุบันยังมีภาระต่อเนื่องที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิดจะสิ้นสุดเมื่อใด แต่ที่แน่ๆ ก็คือ โรคโควิดนี้จะอยู่ยาวในประเทศไทยไปอีกนานถึงสิ้นปี 2565 ก็ยังไม่หมด ภาระหนักอึ้งของ อปท. ช่วงนี้ อาทิเช่น เรื่อง ศูนย์กักกันตัวกลุ่มเสี่ยงฯ (LQ : Local Quarantine), ศูนย์พักคอยผู้ป่วยสีเขียว (CI : Local Isolation), การกักกันตัวที่บ้าน (HI : Home Isolation), และ การหาชุดตรวจ (ATK : Antigen Test Kit) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็น เรื่องขยะติดเชื้อ เรื่องความเสี่ยงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่และเรื่องเกี่ยวข้อง อาทิ ค่าเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่, เจ้าหน้าที่ติดเชื้อป่วย, เจ้าหน้าที่ถูกกักตัว, เจ้าหน้าที่ไม่ได้วัคซีน, เรื่องเบี้ยเลี้ยง และ เรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องระวังไม่ให้เบิกจ่ายงบประมาณซ้ำซ้อนกับ รพ.หรือหน่วยงานอื่น เรื่องสมุนไพร การแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดวัคซีนยังไม่มา หรือการแก้ไขเรื่องยารักษาโรคโควิดที่ยังไม่มียาใดรักษาได้ ต้องรักษาตามอาการ และปัญหายาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ที่ขาดแคลน แถมท้ายด้วยวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจรากหญ้าท้องถิ่นเจ๊ง ไปอีกนานกกว่าจะฟื้น คนตกงาน ไม่มีงานทำ ผลผลิตการเกษตร ธุรกิจการค้าไม่เดิน คนไม่มีรายได้ ฯลฯ ปัญหาการกำจัด “ขยะติดเชื้อ” หรือ "มูลฝอยติดเชื้อ" (Infectious Waste) ของท้องถิ่น ปัญหามีว่าขยะติดเชื้อนั้นเป็นหน้าที่ของ รพ. แต่ อปท.ดูแลเฉพาะขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย สำหรับบรรดาขยะที่เกิดจากกิจการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดนั้น ถือเป็น “ขยะติดเชื้อ” การทำสัญญาจ้างเหมาทำความสะอาดศูนย์ CI, LQ, SQ (State Quarantine) และการฉีดยาฆ่าเชื้อ หากจ้างเหมาเอกชนรับเก็บขนขยะติดเชื้อตามระเบียบ ข้อกำหนด ของกรมอนามัย ผู้รับจ้างอาจหาที่ทิ้งขยะติดเชื้อไม่ได้ หาก รพ.ไม่จัดหาที่กำจัดขยะไว้ให้ ก็จะหาที่ทิ้งไม่ได้แล้ว สำหรับเทศบาลตำบลและ อบต. ดูประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขว่าด้วยการขนและการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อในท้องที่เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2558 ในกรณีผู้ประกอบกิจการสถานบริการการสาธารณสุข ผู้ประกอบกิจการห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายและราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งบุคคลซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นมอบให้ดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 18 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 นอกจากนี้การออกใบอนุญาตที่หยุมหยิม ค่าจ้างอาจแพง ที่กำจัดขยะติดเชื้อมีเฉพาะแห่ง มิได้มีทั่วไป เช่นที่ สมุทรปราการ นครสวรรค์ เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นหน้าที่ของ รพ.สต.ในพื้นที่หรือ รพ.เก็บขนเอง อปท.ก็ยังไม่พ้นภาระหน้าที่ของ อปท. แม้เพียงการรวบรวมส่งขยะติดเชื้อก็ค่อนข้างยุ่งยากแก่เจ้าหน้าที่มาก เรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทย(มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรผ่อนผันหรือแก้ไข ประกาศ ข้อกำหนด “ให้ อปท.สามารถเผาทำลายขยะติดเชื้อได้” และใช้เตาเผาแบบเผาไหม้ทั่วไปเบ็ดเสร็จ (Incineration)ได้ เป็นต้น ระวังเบิกจ่ายงบประมาณที่ซ้ำซ้อนกัน แม้จะมีหนังสือแจ้งสั่งการให้พึงระวังในการเบิกจ่าย มิใช่การแย่งกันจ่าย หรือเกี่ยวกันจ่าย อาจถูกเรียกเงินคืน กรณีศูนย์พักคอยโควิด (CI) รพ.สนาม หรือ กรณีการกักตัวที่บ้าน (HI) แต่ทั้งนี้ก็เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส คุ้มค่า ในการเบิกจ่าย เพราะ หน่วยงานผู้เบิกจ่ายจะต้องถูกตรวจสอบโดย สตง. หรือ ป.ป.ช. ได้ ผู้ป่วยที่ผ่านเข้าระบบการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มากักและรักษาตัวที่บ้าน (HI) หรือเข้าศูนย์พักคอย (CI) รพ.จะเคลมค่ารักษาและอื่นที่เกี่ยวข้องจาก สปสช. เมื่อได้ลงทะเบียนผู้ป่วยในระบบแล้วทั้งหมด ดังนั้น นอกจากการการจัดเตรียมสถานที่ฯ อปท. จะเบิกค่าอาหารคนป่วย ของใช้ส่วนตัว ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาไม่ได้เพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกับ รพ.ที่เคลมค่าใช้จ่ายนี้จาก สปสช.แล้ว แต่ อปท.อาจจ่ายค่าอาหารผู้ป่วยที่อยู่ CI ได้บ้างในบางห้วงที่ รพ.ไม่ได้จ่าย ที่ต้องตรวจสอบกับ รพ. ไม่ต้องรอวัคซีน เพราะไม่มีหรือมาช้าก็คือ การแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทย และ ยาฟาวิพิราเวียร์ มาตรการต่างๆ เทคนิควิธีต่างๆ ที่มีการทดลองใช้กันแบบจำกัดจำเขี่ย เป็นการเฉพาะแห่งไป การเร่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยสีเขียว รัฐบาลต้องส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ทั่วถึง เพราะการเฝ้ารอวัคซีนที่ยังเข้าไม่ถึง หรือมีผู้ป่วยติดเชื้อแล้วจำนวนมาก มาตรการ Bubble & Seal โดยไม่ปิดโรงงานแต่ให้คนงานกักตัวทำงานอยู่ภายในโรงงาน ตาม “โมเดลสมุทรสาคร” หรือ “โรงพยาบาลสนามในโรงงาน” เพื่อใช้แยกกักตัวผู้ติดเชื้อโควิค -19 ในโรงงาน (Factory Accommodation Insulation : FAI) ในจังหวัดสมุทรสาครที่มีโรงงานมากกว่า 6 พันแห่ง หรือ “ปทุมธานีโมเดล” เช่น ตั้งกองทุนซื้อน้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิด-19 ไปก่อน, การเร่งหา Rapid Antigen Test ถ้าผลเป็นบวก ส่งสวอป (swap) ซ้ำ, ให้ยาสมุนไพรไปกิน และส่งอาหาร 5 วัน, เดินหน้าหาวัคซีน แรงงานต่างด้าวก็ฉีด เป็นต้น นี่ยังรวมถึงมาตรการหลังหายป่วยหรือตาย การเอาคนไข้กลับบ้าน การเพิ่มเตาเผาศพ ก็ไม่เว้น ท้องถิ่นเมืองใหญ่/เขตเมืองที่มีโรงงานเยอะ ด้วยข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โรงงานอุตสาหกรรมที่ถือเป็นแหล่งจัดเก็บรายได้มหาศาลของท้องถิ่น โรงงานจึงถูกปิด ทั้งโดยทางตรง หรือโดยปริยาย รวมทั้งปิดกิจการ “งานการก่อสร้าง” (Construction) ต่างๆ ที่เป็นไซต์งาน (Sites) มีแคมป์คนงานด้วย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ทำให้คนตกงาน ไม่มีรายได้ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไม่เดิน (Stagflation) เกิดภาวะเงินฝืด การปิดแคมป์คนงาน ไม่ให้มีการก่อสร้าง ไม่ใช่ล็อกดาวน์ (Lock fown) หรือ การปิดเมือง ที่ไม่ให้มีการกิจกรรมธุรกิจฯ แต่เป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ บางแคมป์มีคนงานมากถึง 1700 คน ทำให้คนงานต้องกระจายกลับบ้านทั่วประเทศ ต่อให้เอาเงินไปให้ (เยียวยา) คนงานเขาก็ไม่เอา ยกเว้นคนไม่มีที่ไป เช่น แรงงานต่างด้าว แต่เขาก็อยู่ไม่ได้ เขาต้องไปอยู่กับชุมชนเขาที่อิสระกว่า คนงาน 90% หนีแคมป์ไปหมดแล้ว ไม่ใช่การ “Bubble and seal” คือ มาตรการให้คนงานกักตัวอยู่ในโรงงาน และทำงานไปด้วย โดยที่โรงงานไม่ปิด เช่น โรงงานที่เวียดนาม การปิดแคมป์คนงาน มันทำให้ฟองแตกแล้ว เหมือนนกบินไปทั่ว เหมือนผึ้งแตกรัง มาตรการเช่นนี้ เท่ากับการเพิ่มภาระปัญหามากขึ้น เพิ่มการกระจายแพร่เชื้อให้กว้างขวางขึ้น เพราะกระจายไปทั่วทั้ง 76 จังหวัดในคราวเดียวกัน การสาธารณสุขไทยทำดีที่สุดแล้ว นี่จะว่าเป็นความบกพร่องของระบบบริหารสาธารณสุขไทยหรืออย่างไร ระบบการบริการที่เข้าถึงไม่ครบ มีแบ่งแยกชนชั้น อุปถัมภ์ การสั่งใช้ อปท.สร้างแนวทางเสี่ยงในเรื่องการใช้เงิน เสี่ยงเรื่อง ขอบเขต อำนาจหน้าที่ ที่คนส่วนกลาง เขียนหนังสือ ชักเข้า ชักออก ความไม่ชัดแจ้ง หวงก้าง เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนโควิด มันบ่งบอก ได้ชัดว่า หวงก้าง หวงเงิน หวงบทบาท ของระบบราชการ ปัญหาเรื่องชุดตรวจ ATK มันเป็นเทคนิคเฉพาะทางของแพทย์ มี ชนิด home use กับ professional use บุคลากรทางการแพทย์ สวมชุด PPE ดูแลผู้ป่วยโควิด แต่ได้วัคซีนไม่ครบ ไม่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อน กิจการ คนทำงานอิสระ หรือ สังกัดกิจการที่ล้มละลาย เลิกกิจการ คือคนที่ถูกทอดทิ้ง ในเวลานี้ คน อปท.ต้องการที่จะสกัดการระบาด แต่ก็ไปติด กฎเกณฑ์ ล็อกซื้อวัคซีนไม่ทัน สุดท้ายปล่อยเวลาเนิ่นนานแล้วก็ไปกระทบ อปท.ทั่วประเทศ อย่างหลีกไม่ได้ ราชการไทย มีหน้าที่ควบคุม กับ ขอความอนุเคราะห์ และเก็บภาษี แต่เรื่องการดูแลนั้น ต้องมีค่าจ้างเท่านั้น คนบ้านนอกท้องทุ่งนาจะมีระเบียบ สามัคคี เผื่อแผ่ ตั้งแต่ครอบครัว หมู่บ้าน แต่คนเมืองจะแย่งชิง ตัวใครตัวมัน สภาพสังคมต่างกัน ฝ่ายการเมืองต้องการให้รวดเร็ว ฝ่าย รพ.เป็นไปตามขั้นตอน ขั้นตอนนั้นแหละ คืออุปสรรค ในการป้องกันฯ รักษา “ระบบรัฐรวมศูนย์อำนาจ” เรื่องจึงบานปลาย จะไปโทษใครหละ ถ้าไม่ใช่พฤติกรรมสังคมราชการไทย