สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ ดังที่กล่าวแล้วว่า "วัดสี่มุมเมือง" นับเป็นพุทธาวาสสำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูงของชาวลำพูนและชาวเหนือทั้งหลาย ด้วยเป็นวัดที่พระนางจามเทวีทรงสร้างเพื่อให้คุ้มครอง "เมืองลำพูน" หรือ "เมืองหริกุญไชย" ทั้ง 4 ทิศ อันประกอบด้วย วัดพระคงฤาษี วัดประตูลี้ วัดดอนแก้ว วัดมหาวัน และที่ "พระเจดีย์ฤาษี วัดพระคงฤๅษี" นั้น ยังปรากฏรูปพระฤาษีทั้งสี่ประทับยืนในซุ้มคูหา พร้อมมีคำจารึกใต้ฐานว่า สุเทวะฤๅษี ผู้รักษาเมืองทิศเหนือ (วัดพระคงฤๅษี) สุกกทันตฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศใต้ (ประตูลี้) สุพรหมฤาษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันออก (วัดคอนแก้ว) และ สุมมนารทะฤๅษี ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันตก (วัดมหาวัน) นอกจากนี้ ทั้ง 4 วัด ยังเป็นแหล่งกำเนิดพระกรุสกุลลำพูนอันมีชื่อเสียงที่สุดในจังหวัดด้วย อาทิ พระรอด พระคง พระฤา พระเบิม และพระบาง ฯลฯ ซึ่งจะมีรูปแบบของศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัยอีกด้วย จาก “พระรอด วัดมหาวัน" สุดยอดพระเครื่องสกุลลำพูน มาคุยถึงพระสกุลลำพูนอีก 2 พิมพ์ คือ "พระคงและพระบาง" ที่จะมีลักษณะค่อนข้างคล้ายคลึง จึงต้องมาหาข้อเปรียบเทียบกันสำหรับวัดพระคงฤๅษี หรือ วัดอนันทราม นั้น เป็นวัดที่อยู่ทางทิศเหนือ มี สุเทวะฤาษีเป็นผู้รักษาเมือง พระสกุลลำพูนที่พบ ณ แห่งนี้ก็คือ “พระคง หรือ พระลำพูน" หนึ่งในพระชื่อดังของลำพูนซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระสมัยเดียวกันกับพระรอด และสร้างโดยสุเทวะฤาษี เช่นเดียวกัน สาเหตุที่เรียกว่าพระลำพูนก็เพราะว่าจะพบพระคงขึ้นมากมายหลายกรุ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของลำพูนไป คนหัดเล่นพระเนื้อดินใหม่ๆ ครูบาอาจารย์จะสอนให้ศึกษาพระลำพูน ซึ่งก็ได้แก่ “พระคง" ก่อนตามความหมายแล้ว "คง" มีพุทธานุภาพในความหนักแน่นมั่นคง อีกทั้งคงกระพันชาตรี รูปพุทธลักษณะเป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าภายใต้ซุ้มโพธิ์ที่พุทธคยา จึงมีพุทธศิลปะที่งดงามสง่า องค์พระประธานประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มใบโพธิ์เหนืออาสนะฐานบัวเม็ด เป็นจุดไข่ปลาเรียงอยู่ด้านหน้าโดยรอบ 2 ชั้น ของแท้ตรงกลางระหว่างฐานบัวไข่ปลาจะยุบตัวลง กึ่งกลางมีตัวลูกน้ำเล็กๆ ปรากฎอยู่ พื้นผนังโพธิ์ด้านหลัง มีความประณีตและอ่อนพลิ้วงดงามมากนับได้ 20 ใบ ต้องพยายามแบ่งกลุ่มโพธิ์ให้เป็น โดยมีทั้งหมด 6 กลุ่ม เส้นประภามณฑล เป็นเส้นซุ้มครอบลงมาตลอดด้านข้าง ด้านขวาขององค์พระเส้นซุ้มชิดองค์พระมากกว่าด้านช้าย พระพักตร์ ป้อมเอิบอิ่ม พระอุระ อวบอ้วนล่ำสัน ลำพระกรขวา หักศอกเป็นแนวตรง พระคง พระคง เป็นพระเนื้อดินเผา ขนาดเล็กกะทัดรัด กว้างประมาณ 1.7 ซม. สูงประมาณ 2.8 ซม. มีทั้งสีขาว สีเหลืองพิกุล สีเขียวสีแดง และสีดำ แต่เป็นที่นิยมที่สุดจะเป็น "พระคงสีเขียว" พบมากที่วัดพระคงฤๅษี และมีกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ในลำพูน ร่วมทั้งเชียงใหม่สันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำพระคงมาบรรจุกรุทีหลัง หลังจากมีการแตกรุจากวัดพระคงฤาษี และเนื่องด้วยพระคงมีการแตกกรุมาหลายครั้ง จึงมีการแบ่งแยกออกเป็น "กรุเก่าและกรุใหม่" “พระคงกรุเก่า" ให้สังเกตเนื้อขององค์พระ จะมีเนื้อละเอียดหนึกนุ่ม แต่มีความแกร่ง และปรากฎว่านดอกมะขามเป็นจุดสีแดงเล็กๆ ประปรายตามผิวขององค์พระ ส่วน "พระคงกรุใหม่" เนื้อขององค์พระจะค่อนข้างยุ่ยและหยาบ โดยเฉพาะว่านดอกมะขามและแร่ที่จมอยู่ในเนื้อ จะหยาบและกระจายอยู่ตามผิวและฝังอยู่ในเนื้อมากมาย สำหรับ "พระบาง" นั้น เป็นหนึ่งในพระสกุลลำพูนซึ่งมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับ “พระคง" มาก คำว่า "บาง" มีผู้สันนิษฐานว่าจากคำว่า “บัง" เป็นทำนองรอดพ้นปลอดภัยเช่นเดียวกับพระรอด พระคง พระเลี่ยง แต่ดูแล้วน่าจะเป็นเพราะมีความบางกว่าพระคงจึ งเป็นชื่อเรียกมากกว่า องค์พระจะดูเรียบร้อย แช่มช้อย งามตา ตามตำนาน “พระบาง” สร้างโดยฤๅษีวาสุเทพ เช่นเดียวกับพระรอดและพระคง มีขนาดและเนื้อมวลสารใกล้เคียงกับพระคงอย่างที่แยกออกได้ยากมากๆ องค์พระประธาน ประทับนั่ง ขัดสมาธิเพชรแสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มใบโพธิ์ เหนืออาสนะฐานบัวเม็ดเป็นจุดไข่ปลาเรียงอยู่ด้านหน้าโดยรอบ 2 ชั้นคล้ายคลึงกับ "พระคง" แต่ "พระบาง" จะมีความอ่อนช้อยงดงามคล้ายอิสตรีมากกว่า กล่าวคือ พระพักตร์ จะยาวเป็นรูปไข่มากกว่า พระอุระ สูงกว่าคล้ายหน้าอกสตรี พระวรกายก็ดูสูงโปร่งและบอบบางกว่า การหักศอกด้านซ้ายก็จะดูอ่อนช้อยกว่าเป็นลักษณะ "อ่อนข้อ" แม้กระทั่ง ผนังโพธิ์กิ่งด้านหลัง เส้นแสงก็ดูอ่อนสลวยกว่าพระคง พระบาง กรุบ้านครูขาว "พระบาง" มีการค้นพบทั้งหมด 3 กรุ คือ กรุวัดพระคง กรุวัดดอนแก้ว และกรุวัดบ้านครูขาว ซึ่งแต่ละกรุก็จะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันดังนี้ พระบาง กรุวัดพระคง ลักษณะเนื้อหามวลสารเหมือนกับพระคงมากที่สุด เพียงเลือกเนื้อว่านที่มีพุทธาคมแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างเท่านั้นแต่จะมีจำนวนน้อยมากเรียกได้ว่า พระคง 100 องค์ จะมีพระบางติดมาเพียง 1 องค์เท่านั้น การวางลำพระกรองพระบางกรุนี้ พระกรขวาวางเป็นมุมฉาก มีลักษณะคล้ายพระคงมากคนโบราณเรียก "พระคงทรงพระบาง" ใบโพธิ์ของพระบางมีจำนวนใบเท่ากันกับพระคงคือ 20 ใบ แต่จะไม่ช้อนทับกัน ลำพระกรด้านขวาจะตั้งขึ้น 45 องศา ไม่ตั้งฉากอย่างพระคง และระหว่างบัวฐานไข่ปลานั้นจะเป็นแอ่งยุบ ระหว่างเม็ดบัวเม็ดที่สองนับจากขวามือขององค์พระมีเส้นเล็กๆ วิ่งเชื่อมติด บัวเม็ดบนกับเม็ดล่าง พระบาง กรุวัดดอนแก้ว พระบาง กรุวัดดอนแก้ว เป็นพระที่มีเนื้อละเอียดที่สุดในทุกกรุ พระพักตร์เป็นผลมะตูม พระนลาฏกว้าง ขนาดขององค์พระก็ค่อนข้างสูงกว่าปกติและแคบกว่าพระบางกรุอื่น องค์พระค่อนข้างบางอย่างเห็นได้ชัดและขอบพระเรียบสม่ำเสมอ พระบาง กรุวัดพระคง พระบาง กรุวัดบ้านครูขาว จะมีความแตกต่างที่เด่นชัดที่สุดทำให้ง่ายต่อการพิจารณา เนื้อขององค์พระจะมี 2 เนื้อ คือ เนื้อดินปนกรวดและเนื้อดินหยาบ ซึ่งไม่มีในกรุใดเลย สำหรับพุทธลักษณะจะค่อนข้างเหมือนกับพระบางกรุวัดดอนแก้ว มีการพบอีกครั้งหนึ่งเรียกกันว่ากรุเทศบาล ปัจจุบันพระคงและพระบางถือได้ว่าเป็นพระกรุเก่าแก่ที่หาดูหาเช่าของแท้ๆ ได้ยากมากเช่นเดียวกับพระสกุลลำพูนพิมพ์อื่นๆ ดังนั้น จะเลือกเช่าหาต้องพิจารณาให้แน่ใจ และเป็นพระดีที่น่าเก็บเคยเห็นองค์พระคงสีแดงเลือดนกองค์หนึ่ง เช่าหากันหลายแสนทีเดียวเชียวครับผม