จากการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้เห็นชอบการขยายพื้นที่ของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ให้กว้างขึ้น โดยให้นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7 เป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปยังพื้นที่นำร่องอื่นๆ ได้เพิ่มเติม โดยปรับลดเวลาที่ต้องอยู่ในพื้นที่ภูเก็ตจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน ซึ่งพื้นที่นำร่องประกอบด้วย พื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ และพื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป สร้างความมั่นใจให้ปชช.พื้นที่แซนด์บ็อกซ์ โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวสะสมของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่ 23,734 คน มียอดการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) จำนวนกว่า 415,910 คืน ยังคงมีเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ซึ่ง 5 อันดับแรกมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยหลังจากที่ปรับเป็นสูตร 7+7 ให้นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อยู่ภูเก็ตครบ 7 วันแล้วเดินทางไปพื้นที่นำร่องอื่นต่อได้ 7 วัน จึงจะสามารถเดินทางไปจังหวัดอื่นได้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวกลุ่มแซนด์บ็อกซ์ที่เดินทางออกจากพื้นที่ภูเก็ตทางบก ขณะนี้มีจำนวนสะสมอยู่ที่ 3,578 คน โดยปลายทาง 5 อันดับอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการเตรียมการวางแผน บริหารจัดการควบคุมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดแล้ว ขอให้ประชาชนในพื้นปลายทางมั่นใจได้ เสนอแผนรับนักท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ ด้าน นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ยังกล่าวถึงโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ว่า ประสบความสำเร็จพอสมควรในมุมของมาตรการการควบคุมโรคติดต่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนท่องเที่ยวทุกภาคส่วนยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังมีจำนวนไม่มากถ้าเทียบกับในช่วงปกติก่อนวิกฤตโควิด และนักท่องเที่ยวตลาดจีนและรัสเซียซึ่งเป็นกลุ่มหลักยังไม่เดินทาง ทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นยังคงกระจุกอยู่กับผู้ประกอบการเพียงบางส่วน ซึ่ง นายสุรวัช ยังกล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ภาคการท่องเที่ยวต้องใช้ภูเก็ต ให้เป็นศูนย์กลางหรือฮับ ของการเดินทางท่องเที่ยวสู่พื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ของประเทศไทย ในระหว่างที่พื้นที่กรุงเทพฯยังต้องรับมือบถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ให้ทุกฝ่ายยอมรับแล้วว่ามีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะมาตรการรับมือกับโรคระบาด อย่างไรก็ตามเวลานี้นักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ตต้องอยู่ในภูเก็ต 14 วัน แต่ต่อไปอาจลดเหลือ 7 วัน หรือ 3 วันตามลำดับ และมีเที่ยวบินออกจากภูเก็ตไปยังอุดรธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น น่าน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการเปิดสินค้าท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จัก และในอนาคต หากนักท่องเที่ยวไปถึงอุดรธานี ขอนแก่น เป็นต้น ก็มีโอกาสที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เชื่อมโยงกันได้อีกด้วย ดังนั้นโมเดลธุรกิจต่อไป อยากนำเสนอให้ทุกพื้นที่ทำแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวนั้นดำเนินงานภายใต้แบรนด์ แซนด์บอกซ์ เหมือนกันในทุกพื้นที่ เช่น เปิดที่สมุย (สุราษฎร์ธานี) ก็ใช้ชื่อ สมุยแซนด์บอกซ์ เปิดพัทยา (ชลบุรี) ก็ใช้ชื่อ พัทยาแซนด์บอกซ์ หรือเปิดหัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) ก็ใช้ชื่อว่า หัวหินแซนด์บอกซ์ เป็นต้น โดยพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่มีความพร้อมที่จะเปิด จะต้องมีคู่มือปฏิบัติงาน หรือ SOP ชัดเจน และได้รับการจัดสรรวัคซีนในอัตราที่มีภูมิคุ้มกันหมู่