"ธปท."ยอมรับพิษโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทำฟื้นตัวช้า แต่ยังเชื่อปัจจัยพื้นฐานยังแกร่ง "คลัง"พร้อมคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4-5% ในปี 65 ขณะที่"สศช."เผย Q2 ว่างงาน 7.3 แสนคน นักศึกษาจบใหม่เตะฝุ่นเฉียด 2.3 แสนคน เร่งออกมาตรการช่วย เมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรง ทำให้การฟื้นตัวค่อนข้างช้าและยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาตามที่คาดไว้ได้ ทำให้ภาคบริการยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวกลับมาในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นและมีความเสี่ยงในด้านต่ำค่อนข้างจำกัด โดยมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ 2.ภาคธุรกิจธนาคารยังมีความเข้มแข็งสามารถรองรับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติได้ดี และ 3.ฐานะการคลังมีหนี้สาธารณะในระดับที่ยอมรับได้ และต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังมีช่องทาง (Room) สำหรับการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Shaping Thailand's Readiness for Post COVID-19 Economic Opportunities" จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตถึง 7.5% ในไตรมาส 2/64 แต่สภาพการณ์ทั่วไปของเศรษฐกิจก็ยังคงไม่แข็งแกร่งนักจกาสถานการณ์โควิด-19 โดยที่อัตราการเติบโตเทียบระหว่างสองไตรมาสนับตั้งแต่ต้นปีนี้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% การระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ส่งผลให้การฟื้นตัวอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้ "ที่ผ่านมาหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ในประเทศปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 0.7% สำหรับปีนี้ และ 3.7% สำหรับการฟื้นตัวในปี 65 ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิม 1.5-2.5%" สำหรับปี 2565 รัฐบาลจะทุ่มสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัสที่ตอนนี้ขยายไปครอบคลุมนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของไทย การระบาดที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลสามารถหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 4-5% ในปี 65 วันเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของปี 2564 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องจับตาดูในช่วงนี้คือสิ่งที่ผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่ที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน โดยแนวโน้มผู้ที่จบการศึกษาจากอุดมศึกษา และอาชีวะศึกษา มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด โดยมีผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือนกว่า 20.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีอยู่ 11.7% "ประเด็นที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดคือ เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากากรแพร่ระบาดโควิด และมาตรการที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งกระทบต่อเนื่องไปที่รายได้ของแรงงาน ฉะนั้นช่วงถัดไปจะต้องมีการดูแลผู้ประกอบการให้สามารถรักษาการจ้างงานให้ได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะออกมาในระยะถัดไป เพราะขณะนี้ข้อมูลยอดบัญชีคงค้างต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ก็ลดลงต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ามีการนำเงินเก็บออกมาใช้ และจะต้องมีการดูแลแรงงานที่มีการปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาใหม่ จะต้องมีมาตรการออกมาในการจ้างงานระยะสั้น เช่น การฝึกอบรม ทำให้สามารถหารายได้ในช่วงที่รอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ขณะที่ มาตรการช่วยเหลือการจ้างงานด้วยการจ่ายเงินคนละครึ่งจะออกมาเมื่อไหร่นั้น ขณะนี้สภาพัฒน์กำลังทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาก็มีโครงการของรัฐที่ออกไปช่วยการจ้างงานอยู่หลายโครงการจะต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าหลายๆ โครงการที่มีการจ้างงานไปแล้วในสถานการณ์เหล่านี้จะต้องมีการต่ออายุโครงการเหล่านั้น เพื่อเร่งคงระดับการจ้างงานไว้ ขณะเดียวกันมาตรการอื่นๆที่จะออกมาขอให้รอติดตาม ซึ่งกำลังจะเร่งเสนอมาตรการอยู่จะช่วยให้เกิดการรักษาระดับการจ้างงานได้เช่นกัน ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 2 ของปีนี้ปรับตัวดีขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมปรับเพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากแรงงานที่กลับภูมิลำเนาแล้วเข้าสู่ภาคการเกษตร ขณะที่แรงงานนอกภาคการเกษตร ปรับเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนสาขาการจ้างงานที่มีการปรับลดลง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ส่วนชั่วโมงการทำงานปรับดีขึ้นจากปีที่แล้ว เฉลี่ย 41.6% เพิ่มขึ้น 8.8% และจำนวนผู้ทำงานที่ทำงานล่วงเวลา มีกว่า 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.5 ล้านคน โดยชั่วโมงการทำงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์เคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ มองว่ามาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบแน่นอนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะเป็นผู้ว่างงานหรือไม่นั้น ขณะนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็พยายามที่จะคงการจ้างงานเอาไว้เหมือนกัน แต่อาจจะมีการลดค่าจ้าง และอาจจะมีผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาส 3 ส่วนแนวโน้มการว่างงานในไตรมาส 3 นั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะในช่วงวิกฤตที่ผ่านมามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดพื้นที่ 29 จังหวัด และรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาระยะสั้นก่อนแล้ว ฉะนั้น การจ้างงานจะต้องมาพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าแนวโน้มจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ "เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง แต่ยังมีบางสาขาที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ส่วนภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ฉะนั้นในส่วนของผู้เสมือนการว่างงานจะยังต้องมีการเฝ้าระวังจากสถานการณ์ของสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดูผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานว่าเราคงต้องมีอะไรออกมาช่วยด้วย"