“อ่างเก็บน้ำของพระราชา” นับจากนี้เป็นต้นไป เชื่อว่าพวกเราคนไทยคงจะเริ่มคุ้นเคยกับถ้อยคำประโยคนี้มากขึ้น นั่นเป็นเพราะ “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “อ่างเก็บน้ำของพระราชา” และใช้เวลาก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2553 นั้น บัดนี้การก่อสร้างในส่วนของตัวอ่างเก็บน้ำและอาคารประกอบได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และพร้อมแล้วสำหรับการเป็นแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนในลุ่มน้ำปราจีนบุรี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยในชื่อเดิม คือ “โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสีย ในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 อนุมัติให้กรมชลประทานเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ และต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” หมายถึง“อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”และนับได้ว่าเป็นอ่างเก็บน้ำแห่งสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระองค์ ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตั้งอยู่ที่บ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร ความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้การก่อสร้างในส่วนอ่างเก็บน้ำได้เสร็จสมบูรณ์โดยสามารถเริ่มเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ส่วนการก่อสร้างระบบชลประทานคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกมากถึง 111,300 ไร่ ด้าน นายสุชาติ ธนะพฤกษ์ เกษตรกรเจ้าของ“สวนนายแป๊ะ” เลขที่ 182 หมู่ 2 ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานและทุเรียนบนพื้นที่กว่า 60 ไร่ แม้จะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่จะรับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาโดยตรงจากระบบชลประทานที่กำลังก่อสร้างอยู่ แต่ก็เป็นเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำลงลำน้ำเดิม เปิดเผยว่า ในอดีตจังหวัดปราจีนบุรีมักประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี เพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่ไหลมาจากห้วยโสมง ดังนั้นเมื่อถึงฤดูฝนจึงมักเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ชุมชน บ้านเรือน และพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่พอถึงหน้าแล้ง น้ำในลำห้วยก็ไหลออกไปจนหมดจนเกิดภัยแล้ง สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรบริเวณท้ายน้ำและยังเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ น้ำเน่าเสีย จนทำให้บางปีชาวบ้านต้องเดือดร้อนหนัก เพราะไม่มีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา นายสุชาติ กล่าวต่อว่า หลังจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องประสบกับเหตุน้ำท่วมรุนแรงอีกเลย ส่วนภัยแล้งก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะเมื่อมีอ่างเก็บน้ำก็ทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งไม่มีปัญหาน้ำเค็มดันเข้ามาอีกเลยในปีนี้ในส่วนของพื้นที่สวนผลไม้ของผมถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ในเขตการส่งน้ำของโครงการ แต่ก็ได้รับประโยชน์จากการระบายน้ำลงลำห้วยในฤดูแล้ง เนื่องจากระดับน้ำในลำน้ำสูงขึ้น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำน้อยลง ส่วนในฤดูฝน ก่อนหน้ามีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ก็เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี หลังจากที่มีอ่างเก็บน้ำปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป นายนิรันดร์ บัวจู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ในอดีตพื้นที่อำเภอนาดีไม่ได้เพียงแต่จะต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเท่านั้น แต่ด้วยความที่มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติปางสีดาและอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีป่าไม้และสัตว์ป่าจำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมามักต้องเผชิญกับปัญหาการบุกรุกป่า ไฟป่า และการลักลอบล่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง แต่ภายหลังจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเริ่มเก็บกักน้ำเมื่อปี 2559 ก็ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป “เมื่อก่อนปัญหาเยอะมาก อย่างแรกเลย คือ ไฟป่า ถ้ามองไปตามขอบเขาในช่วงหน้าแล้งจะไม่เห็นเป็นป่าเขียวขจีเหมือนทุกวันนี้ เพราะจะถูกไฟป่าเผาหมด ปัญหาอีกอย่าง คือ เรื่องการล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะช่วงเดือนสี่เดือนห้าซึ่งจะมีแหล่งน้ำหรือคลองเล็กคลองน้อยตามหย่อมเขาและมีสัตว์ป่าลงมาหากิน ซึ่งกลุ่มนายพรานมันรู้ดี จึงมาใช้เป็นจุดซุ่มดักยิงสัตว์ป่ากันตรงนี้ แต่หลังจากมีอ่างเก็บน้ำ สัตว์ป่าก็กินน้ำได้จากทุกที่ นายพรานก็เข้ามาไม่ได้ รวมถึงพวกตัดไม้ทำลายป่าด้วย ขณะที่ไฟป่าก็หมดไป เพราะป่าชุ่มชื้นขึ้น จนตอนนี้ชาวบ้านสบายใจได้แล้ว” นายนิรันดร์ กล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หมดไปแล้ว กรมชลประทานร่วมกับกรมประมง ยังได้จัดหาพันธุ์ปลามาปล่อยลงในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดอาชีพประมงขึ้น มีชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาหาปลาในอ่างเก็บน้ำมากขึ้น บรรดาผู้นำชุมชนจึงร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานวางแนวทางจัดระเบียบการจับปลาให้เกิดความเรียบร้อยตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งสหกรณ์แพปลาห้วยโสมงขึ้น ใครจับปลาได้ก็ให้นำมาขายกับสหกรณ์ ผลกำไรที่ได้นำมาแบ่งปันกัน และนำรายได้ส่วนหนึ่งไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ รวมทั้งไปซื้อพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่ม ชาวบ้านที่ไม่มีอาชีพ ไม่ได้ทำงานโรงงาน ก็สามารถมีรายได้จากการหาปลา รวมทั้งคนที่ไปทำงานต่างจังหวัด ก็กลับคืนถิ่นมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดของตนเอง ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวบ้าน และเป็นการทำให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งอย่างถาวร และนี่ก็เป็นสิ่งที่สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” มิได้มีคุณค่าเพียงแค่การแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อปัดเป่าปัญหาให้แก่ประชาชนลุ่มน้ำปราจีนบุรีเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่ามหาศาลที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเหมาะสมและคู่ควรอย่างยิ่งกับสมญานาม “อ่างเก็บน้ำของพระราชา” +++++++++++++++++++