ย้ำไม่ใช่สายพันธุ์ไทย เพราะพบในตปท.ด้วยเหมือนกัน โดยพบในปทุมธานี บุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ ชลบุรี กทม. สุราษฎร์ธานี โดยต้องจับตาต่อเนื่องจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหรือไม่ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงข่าวพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย โดยกล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ตรวจพบเชื้อภาพรวมทั่วประเทศ เดลต้า 92.9% โดย กทม.97% โดยปัจจุบันตรวจพบทุกจังหวัด ซึ่งจากการตรวจพันธุกรรมทั้งตัวพบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอย่างไรหรือไม่ ด้านศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้สุ่มถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนม (SARS-CoV-2 whole genome sequencing 30,000 bp) เมื่อ 15 ส.ค. 2564 จากตัวอย่างที่ส่งมาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการประสานงานระหว่างศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี และ กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) พบ ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของตัวอย่างทั้งหมดที่ถอดได้จะถูกอัพโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" เพื่อให้นานาชาติได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ในด้านการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งจากการวิเคราะห์สัดส่วนของโควิดกลายพันธุ์ในประเทศไทยด้วยแอพพลิเคชั่น "Nextstrain Thailand" พบว่า B.1.1.7 (อัลฟา) 11% B.1.351 (เบตา) 14% B.1.617.2 (เดลตา) 71% อีกทั้งพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาอีก 4 ตัวคือ - AY.4 หรือ B.1.617.2.4 ช่วงที่พบเดือน มิ.ย.-ส.ค. ในพื้นที่ ปทุมธานี 4  ราย บุรีรัมย์ 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย เชียงใหม่ 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ชลบุรี 1 ราย - AY.6 หรือ B.1.617.2.6 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม. 1 ราย - AY.10 หรือ B.1.617.2.10ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม.1 ราย AY.12 หรือ B.1.617.2.15ช่วงที่พบเดือน ก.ค.-ส.ค. ในพื้นที่ กทม. (พญาไท) 1 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สายพันธุ์ย่อยของเดลตาทั้ง 4 ตัวนี้ ยังพบในต่างประเทศด้วยเช่นกัน คือ  อังกฤษ สเปน เดนมาร์ก และสหรัฐฯ จึงยัง "ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย" แม้ว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์เดลตาที่พบในไทยก็ตาม เพราะโดยธรรมชาติของสายพันธุ์ไวรัสหากพบว่ามีการระบาดจากคนสู่คนจำนวนมาก ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์หรือเกิดสายพันธุ์ย่อยได้อีก โดยยังไม่ใช่เดลตาพลัส และยังไม่พบว่าดื้อต่อวัคซีน โดยยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป