เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงการบินเกษตร ร่วมกับเหล่าทัพ ยังมุ่งมั่นปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนอย่างเต็มที่ เนื่องจากขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อยู่ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก และยังคงมีความต้องการน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการได้รับผลผลิตทางเกษตรตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ในขณะเดียวกัน พื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พบว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าการใช้การเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับปัญหาในเรื่องของปริมาณฝนตกที่ค่อนข้างน้อย รวมไปถึงการเผชิญกับปัญหาภัยแล้งหรือภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน จึงทำให้ปริมาณน้ำฝนที่จะเป็นน้ำต้นทุนไหลสู่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำในปัจจุบันนั้น มีปริมาณลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับในช่วงฤดูฝนกว่า 3 เดือนเศษที่ผ่านมา พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคเหนือของประเทศแทบจะไม่มีร่องความกดอากาศหรือร่องมรสุมพาดผ่าน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ดังกล่าวน้อยลงด้วย โดยจากข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 01.00 น. พบว่า มีพายุโซนร้อน “โอไมส์” ก่อตัวขึ้น และมีทิศทางการเคลื่อนที่ไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ทำให้ในช่วงนี้ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังอ่อนเพียงเท่านั้น และจะส่งผลให้ปริมาณฝนตกในช่วงนี้ ยังคงมีปริมาณฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง และบางพื้นที่มีฝนตกค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ โดย 13 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ทั่วประเทศ ยังติดตามสภาพอากาศและเร่งวางแผนช่วยเหลือในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอ โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 9 หน่วย ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดตาก ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว จันทบุรี เพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และบึงบอระเพ็ด
สำหรับในช่วงเช้านี้สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ตาก สุโขทัย และ
จ.ลำปาง
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชรและจ.พิจิตร
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุพรรณบุรี และ
จ.กาญจนบุรี
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ สระบุรี และจ.สิงห์บุรี
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น และ
จ.กาฬสินธุ์
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุบลราชธานี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม
- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา และจ.บุรีรัมย์
อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการในพื้นที่อื่นๆ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100