รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวในกรอบแคบๆ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดีเงินบาทดีดตัวแข็งค่ากลับมาช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมาตามการปรับโพสิชันในระหว่างที่รอบันทึกการประชุมเฟด
โดยเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามจังหวะสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ มีแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะมีการเริ่มปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการคิวอีลงภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างเร็ว หากตลาดแรงงานสหรัฐ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเงินบาทปิดตลาดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ ในวันที่ 13 ส.ค.
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค.ของไทย และสถานการณ์โควิด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือน ก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/64 (ครั้งที่ 2) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือน ส.ค.(เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯด้วยเช่นกัน