เพจประชาสัมพันธุ์​ กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟสบุ๊คระบุว่า #รู้จัก...บ่าง หรือ พุจง สัตว์ที่มีรูปร่างประหลาด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ร่อนได้ บ่าง หรือ พุจง Malayan flying lemur, Sunda Colugo or Malayan colugo Galeopterus variegatus (Audebert, 1799) บ่างดูคล้ายกระรอกบิน หน้าตาคล้ายกระแต คนตะวันตกมองว่าหน้าตาเหมือนตัวลีเมอร์ในมาดาร์กัสกา จึงเรียกว่า flying lemur สีขนมีทั้งสีน้ำตาล สีน้ำตาลแดง หรือสีเทา ขึ้นอยู่กับพื้นที่ป่าและสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เอกลักษณ์ของบ่างก็คือ มีหนังบางๆหรือพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีนิ้ว 5 นิ้ว ไม่มีนิ้วหัวแม่มือ มีเล็บแหลมคม เอาไว้ใช้สำหรับไต่และเกาะเกี่ยวต้นไม้ อยู่ในอันดับ Dermoptera ที่แปลว่า ปีกหนัง สัตว์ บ่างตั้งท้องนานราว 60 วัน ออกลูกคราวละตัว บางครั้งอาจมีสองตัว ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนกัน ลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่นเพื่อไม่ให้ตกลงมา ด้านการกระจายพันธุ์ พบในตอนเหนือของลาว กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว สุมาตรา บาหลี ชวา ในประเทศไทย พบได้ในบางพื้นที่ของภาคตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่พบในภาคตะวันตกตั้งแต่กาญจนบุรีลงมาจนถึงตอนใต้สุดของแหลมมลายู บ่างอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้ พบได้ในป่าทุกประเภท หรือแม้แต่ป่าเสื่อมโทรม หรือตามสวนผลไม้ ในพื้นที่เกษตรกรรม บ่างหากินในเวลากลางคืนตามเรือนยอดไม้ เมื่อต้องการย้ายจากต้นที่หากินอยู่ไปสู่อีกต้นหนึ่ง จะใช้วิธีการร่อนจากเรือนยอดไปยังลำต้นอีกต้นหนึ่ง แล้วค่อยไต่ขึ้นไปบนเรือนยอดของต้นนั้นอีกที บ่างใช้วิธีการนี้เดินทางไปเรื่อยๆในป่า แต่ข้อจำกัดของบ่างคือการเดินทางได้ช้าในแต่ละคืน ดังนั้นจึงเลือกอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นพืชอาหารอยู่ใกล้ๆ เราจึงพบบ่างได้บ่อยในพื้นที่ที่เป็นป่าใหญ่ที่มีอาหารเหลือเฟือและต้นไม้อยู่ไม่ห่างกันมากกว่าหย่อมป่าที่เรือนยอดไม่เชื่อมต่อกัน กลางวันเกาะนอนตามลำต้นของไม้ใหญ่ โดยจะเลือกลำต้นที่คล้ายกับสีขนเพื่อเป็นการพรางตัวให้พบเห็นได้ยาก มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สัตว์ที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติมีไม่มากนัก ดังนั้นสถานภาพของบ่างจึงไม่น่าเป็นห่วง อาหารที่บ่างกิน คาดว่าปกติกินพืชเป็นหลัก เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน รวมทั้งดอกไม้ บางครั้งอาจกินแมลงที่อยู่บนต้นไม้เสริมด้วย ในสวนผลไม้ที่พบบ่างได้บ่อย เช่น สวนมะพร้าว สวนทุเรียน ซึ่งเป็นพืชที่มีดอกขนาดใหญ่ การมีบ่างเข้าไปช่วยผสมเกสรยิ่งทำให้พืชมีโอกาสติดผลมากขึ้นอีกด้วย เมื่อมาถึงตรงนี้ บางทีเราก็อาจจะพออนุมานได้ว่า หน้าที่ในระบบนิเวศของบ่างคือผสมเกสรดอกไม้ขนาดใหญ่ที่บานในเวลากลางคืน เป็นการเติมเต็มในส่วนที่แมลงและค้างคาวช่วยกันทำงานอยู่ สัตว์ทุกชนิดทุกตัว ล้วนแต่มีหน้าที่เป็นของตัวเองเพื่อจะทำให้ระบบนิเวศทำงานได้อย่างแน่นหนายิ่งขึ้น ที่มา : สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา • Hala Bala Wildlife Research Station ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.thaiwildlife.info/wildlife.php?Act=View&ID=1736