มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ขับเคลื่อนโครงการตามพระราโชบาย ด้านการพัฒนาท้องถิ่น แผนงานแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตชนบท ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ร่วมยกระดับท้องถิ่นสร้างแนวทางการพัฒนาตนเองสู่การเลี้ยงชีพแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตพื้นที่ชนบท ร่วมพัฒนาสินค้า ผักปลอดสารพิษ พริกไทยดำ กะปิ ปลาเค็มฝังทราย ปลาแดดเดียว ปลาสวรรค์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป การเลี้ยงเป็ด การแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็มสมุนไพร ณ ตำบลกำพวนและตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับพระบรมราโชบายในการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ให้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน โดยเน้นด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ ให้ทุกสถาบันต้องทำงานให้เข้าถึงประชาชน พร้อมรับทราบปัญหาความต้องการ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาทางช่วยเหลือแก้ไข และปรับตัวให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ด้านนายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการ กล่าวว่า จากหลักการดังกล่าว นำมาสู่การชี้เป้าเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) โดยได้รับมอบหมายให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ตำบลกำพวนและตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โดยมีกลุ่มอาชีพที่เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในเขตพื้นที่ชนบท จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งถั่ว กลุ่มสตรีทำขนมบ้านโตนกรอย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านทะเลนอก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังเป็ด โดยได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูป การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงกระบวนการจัดการด้านการส่งเสริมการขาย การตลาดออนไลน์ การทำบัญชีครัวเรือน การกำหนดราคาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันของชุมชน ตลอดจนการสร้างมาตรฐาน อย. GMP และ GAP ของผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผักปลอดสารพิษชนิดต่างๆ พริกไทยดำ กะปิ ปลาเค็มฝังทราย ปลาแดดเดียว ปลาสวรรค์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป การเลี้ยงเป็ด การแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็มสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยฯ ได้นำองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ บูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการประสานความร่วมมือของอำเภอสุขสำราญ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ สุขสำราญ สำนักงานเกษตรอำเภอสุขสำราญ เพื่อต่อยอดและยกระดับสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และให้ประชาชนนำไปต่อยอดในภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป