สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ผนึกกำลังบูรณาการความรู้ จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 10 ขึ้นเป็นครั้งแรกของภาคตะวันออก การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของ 2 หน่วยงาน โดยมี พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 10 ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันเผยแพร่ความรู้สู่ประชาสังคม จุดประกายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน ให้ก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ให้กับประเทศต่อไปในอนาคต กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2564 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 สายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ ซึ่งมีความพิเศษที่ต่างจากทุกปีคือได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยได้ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ มีเยาวชนจำนวน 17 ทีม เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทุกทีมต้องทำการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการสอนออนไลน์ จากนั้นทุกทีมจะนำเสนอแนวคิดการออกแบบจรวดในรูปแบบของ VDO Presentation และต้องนำเสนอแนวคิดผ่านระบบ Zoom Video Conference เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา โดยมีทีมที่ได้คะแนน Conceptual Design สูงสุดจำนวน 3 ทีม โดยได้รับรางวัล จำนวน 3 รางวัล ดังนี้ - รางวัล Conceptual Design ความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ทีม First Point Aries โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย กทม. - รางวัล Conceptual Design การออกแบบตามทฤษฎี ได้แก่ ทีม Rocket with my friends โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี - รางวัล Presentation ยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม Emmalyn โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง ในการนำเสนอ ทุกทีมจะได้รับคำแนะนำจากกรรมการ เพื่อทำการประดิษฐ์จรวด เมื่อทุกทีมประดิษฐ์จรวดเรียบร้อยแล้วจะทำการโหวตจรวดที่ออกแบบได้โดนใจผู้ชมมากที่สุด ผ่านทาง Facebook Fanpage ค่ายวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งทีมที่ได้รับการกด Like มากที่สุด และได้รับรางวัล Popular Vote ไปครองได้แก่ ทีม Space Bar โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก มีคนกด Like จำนวนถึง 1,451 Like ในส่วนของการทดสอบยิงจรวดประดิษฐ์ ทุกทีมจะต้องคิดวิธีในการส่งจรวดประดิษฐ์มาให้ทางคณะผู้จัด ซึ่งจรวดที่ส่งมานั้นจะต้องมีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะทำการยิงทดสอบมากที่สุด เพื่อที่นักวิจัย สทป. จะได้นำจรวดของน้อง ๆ ไปประกอบมอเตอร์ เพื่อทำการยิงทดสอบ โดยคณะกรรมการจะใช้เกณฑ์การตัดสินดังนี้ • จรวดสามารถขึ้นได้สูงที่สุด 40% • จรวดสามารถตกลงมาสมบูรณ์ 30% (การปล่อยร่มจรวด, ร่มจรวดกางสมบูรณ์, ระบบ Deployment สมบูรณ์, ชิ้นส่วนจรวดหลังตกมีความสมบูรณ์) • จรวดสามารถตกลงมาในเขตพื้นที่ตกลงในพื้นที่ราบที่กำหนดในรัศมี 400 เมตร 10% • การรักษาเวลาในการส่งผลงาน 10% • การดำเนินการให้เป็นตาม Proposal ที่เสนอไว้ 10% รวม 100% คณะกรรมการทำการเก็บรวบรวมคะแนนและสรุปผลการทดสอบจรวดประดิษฐ์ของแต่ละทีม โดยทีมที่มีคะแนนมากที่สุดใน 3 อันดับ ที่สามารถคว้ารางวัลไปครอง ดังนี้ • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Black Smith Guy โรงเรียนน้ำพองศึกษา จ.ขอนแก่น • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Jupiter โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม กทม. • รางวัลชนะเลิศ ในปีนี้มีทีมที่สามารถทำคะแนนสูงสุดถึง 2 ทีม ได้แก่ ทีม nine za โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี จ.นนทบุรี ทีม Skyrocket โรงเรียนองครักษ์ จ.นครนายก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา และยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องในรูปแบบใหม่ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เยาวชนไม่สามารถมารวมตัวกันได้ แต่เราก้อยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการจุดประกายความคิดให้เยาวชนมีความคิดริเริ่มเพื่อเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต