เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน ว่าการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือส่งรายงานสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“กว่าที่อีไอเอจะผ่าน คชก.ได้ เขาต้องพิจารณากันหลายรอบ ผมติดตามเรื่องนี้นานเกือบ 2 ปี คชก. สั่งให้แก้ไขนานมาก แต่ผมคิดว่าทันรัฐบาลชุดนี้แน่นอน เพราะอธิบดีประพิศ (นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน) บอกว่าหากผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สิ้นปีเริ่มดำเนินการได้เลย แต่ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงเริ่มอย่างไร เริ่มที่หัวงานเลย หรือเริ่มสำรวจพื้นที่” นายวีระกร กล่าว
รองประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า ตนพยายามประสานงานผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร นายประพิศ จันทร์มา ทำให้เห็นชอบกับโครงการนี้ เพราะเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำลุล่วงในระดับหนึ่ง ภาคกลางทั้งหมด ลุ่มน้ำสาขาไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำน่าน หากมีน้ำมาเติมจากแม่น้ำปิง ลุ่มน้ำน่านก็จะใช้น้ำน้อยลง ตั้งแต่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ขึ้นไปอาจจะอัดน้ำให้ใช้ในลุ่มน้ำน่านให้มากขึ้นอีก ลุ่มน้ำยมก็เช่นเดียวกัน เราสามารถอัดน้ำไปช่วยแม่น้ำยมได้ พูดง่ายๆ ว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีน้ำเพียงพอ
นายวีระกรกล่าวว่า เมื่อ กมธ.ศึกษาโครงการนี้ได้ประสานไปทางบริษัทวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งทราบว่าเขาให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่ เพราะว่าประเทศจีนมีวิสาหกิจประมาณ 5 บริษัท ในการทำเขื่อนทั่วโลก โดยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศ ดังนั้นงานนี้เหมือนเขารับงานโดยไม่เอากำไรมากเพราะเครื่องไม้เครื่องมือมีพร้อมสำหรับทำโครงการใหญ่ๆ และอยากช่วยประเทศไทยด้วย
“กรมชลประทานได้ออกแบบคร่าวๆ ไว้เดิมใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เวลา 7 ปี แต่ทางวิสาหกิจจีนตอบมาว่าเขาใช้งบเพียง 4 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาเพียง 4 ปี จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งราคากลางก็ถูกกว่าที่เราคิดตั้งเยอะ เรื่องนี้ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ และท่านประวิตรที่นั่งอยู่ด้วยกัน ท่านบอกว่าเอาเลย ถ้าเขาทำให้เราก่อน เราไม่ต้องเสียอะไร เราไม่ต้องลงทุนเอง หากต้องลงทุนเองตอนนี้ รัฐบาลไม่พร้อม หากทางจีนจะทำ ท่านบอกเดินหน้าเต็มที่เลย ผมไฟเขียวให้เลย บอกให้บริษัททางจีนประสานงานกับคุณสมเกียรติ (นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช.) ได้เลย ทำให้โครงการได้รับการผลักดันจากระดับสูง ทางกรมชลประทานก็ตื่นเต้นกัน เดินเรื่องกันเต็มที่ แม้กระทั่ง อีไอเอ ก็ผ่านกันเต็มที่ ในขณะที่ทำอีไอเอ ทางกรมชลก็ออกแบบคู่ขนานกันไป แบบใกล้เสร็จแล้ว ที่ผมได้คุยกับท่านอธิบดีประพิศล่าสุด ท่านบอกว่าถ้าผ่าน คชก. ก็คงไม่เกินปลายปีเราคงเริ่มงานได้” นายวีระกร กล่าว
ส.ส.นครสวรรค์กล่าวว่า การนำน้ำจากแม่น้ำยวม ข้ามมาใช้ลุ่มน้ำปิง เป็นเพราะประเทศไทยขาดแคลนน้ำจริงๆ ภาคกลางเดือดร้อนกันมากเพราะไม่ได้ทำนาโดยสูบน้ำจากแม่น้ำมา 14 ปีแล้ว เขาไม่ให้สูบ หลายๆ จังหวัดน้ำไม่พอใช้ โดยเฉลี่ยเราขาดน้ำประมาณปีละ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อ กมธ.ได้ศึกษาเรื่องนี้และพยายามค้นหาว่ามีโครงการไหนบ้าง จึงเห็นว่าน่าจะเอาน้ำจากแม่น้ำยวมมาได้
เมื่อถามว่ารัฐวิสาหกิจจีนที่มาลงทุนและดำเนินการจะได้อะไร นายวีระกร กล่าวว่า เขาขายน้ำให้เราในราคา 1คิว ไม่ถึง 1 บาท ซึ่งถูกมาก ต่อให้เราทำเองก็ทำไม่ได้ เขาคงมีกำไรบ้าง ถ้าไม่ดีเขาคงไม่ทำ แต่เขาไม่ได้เอากำไรมากเกินไป และเมื่อกรมชลประทานได้ยินว่าไม่ถึง 1 บาท ก็เลยดีใจ ทุกคนดีใจ เป็นราคาที่ดีมากๆ
“เขาขายให้รัฐบาลไทย เมื่อน้ำไหลลงอ่างเขื่อนถูมิพล เราปั่นไฟขาย ก็ได้อยู่แล้ว อาจมีส่วนเกินต้องจ่ายนิดหน่อย ก็อาจเป็น กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) รัฐบาลก็มอบหมาย กฟผ. ตัดเอางบกำไรไปคืนเขา ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร มันนิดเดียว ไม่ได้มากมาย คิวหนึ่งเมื่อหักค่าไฟแล้ว ผมว่าไม่ถึง 50 สตางค์ ปีหนึ่ง 2,000 ล้านคิว ก็ประมาณ 1,000 ล้านบาท รายได้กฟผ. เยอะกว่านี้เยอะ หลายหมื่นล้านบาท” รองประธาน กมธ.กล่าว
เมื่อถามว่าการที่จีนเข้ามาลงทุนครั้งนี้น่าจะมีเหตุผลอื่นหรือไม่ นายวีระกรกล่าวว่า เท่าที่รู้คือ จีนกำลังจะลงทุนเมืองอุตสาหกรรมในพม่า บริเวณแถวนั้น ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน หากลากเส้นจากสบเมยไปยังกรุงเนปิดอว์ (เมืองหลวงของพม่า) จะเห็นว่าแค่ 80 กิโลเมตร จุดที่เขาทำเมืองอุตสาหกรรมก็ใกล้ตรงนี้ ตอนนี้เขาประสานงานกับรัฐบาลพม่าแล้ว โดยจะทำเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไปใช้ในเมืองอุตสาหกรรมและส่วนหนึ่งขายให้รัฐบาลไทย ตนได้ประสานและเรียนท่านสุพัฒนพงษ์ (นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน) นายสุพัฒนพงษ์บอกว่าให้แยกเป็นโครงการ อย่าเอามารวมกัน เรื่องเขื่อนสาละวินอย่าเพิ่งเอามารวมกัน
“รองนายกฯบอกว่านั่นเป็นเรื่องอนาคต ค่อยว่ากันทีหลัง ตอนนี้มาว่าเรื่องผันน้ำยวมก่อนเป็นเรื่องแรก แต่ท่านเห็นด้วย ไม่มีข้อไม่ดีตรงไหน เพียงแต่เอ็นจีโอบางกลุ่มพยายามทำให้เป็นเรื่องโครงการดั้งเดิม บอกว่าน้ำจะท่วมถึงแม่สะเรียง ซึ่งมันไม่ใช่ ผมอยากให้สื่อมวลชนช่วยตีความให้ชัดเจน เราไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน คือผันน้ำในหน้าฝนเท่านั้นเอง ทำเป็นประตูยกระดับสูงความลึก 4 เมตรก็พอสูบแล้ว
เมื่อถามว่าการสร้างอุโมงค์ความยาวกว่า 60 กิโลเมตรทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าหรือไม่ นายวีระกรกล่าวว่า ไม่เสียพื้นที่ป่าเลย เพราะการทำอุโมงค์ใช้หัวเจาะเข้าไปในภูเขาใต้ระดับลงไป 20-30 เมตร ไม่ได้มีกระทบเลย เจาะลงไปโดยที่ข้างบนยังไม่รู้เรื่องเลย สัตว์ป่าต้นไม้ไม่ได้รู้เรื่อง โดยเป็นเทคโนโลยีใหม่ ไม่ใช่เป็นการใช้ระเบิดเปิดปากแล้วมาวางท่อกลบดิน แต่เป็นการเจาะแล้วเอาดินออก
เมื่อถามว่าดินปริมาณมหาศาลจากการขุดเจาะอุโมงค์จะเอาไปไว้ไหน นายวีระกรกล่าวว่า ตนเสนอให้ชลประทานออกแบบให้เอาดินไปถมพื้นที่ลุ่มที่ใกล้เคียง คือในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำเงา ไม่ใช่เอาไปกองไว้พื้นที่เดียว ปัญหาทั้งหมดถ้าจะมีก็คือเรื่องของดินที่เอาออกมา ซึ่งก็จะบอกว่าเอาไปทิ้งที่ลุ่มๆ ที่ไม่เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทำร่วมกับพวกเอ็นจีโอก็ได้ เรื่องนี้เนื่องจากว่าไม่ได้ทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป ถ้าบอกว่าไม่มีผลกระทบเลยก็คงไม่ได้ คงมีบ้าง แต่คุ้มแน่นอน เพราะว่าในอนาคตเราอาจจะทำท่อส่งน้ำจากแม่น้ำสาละวินซึ่งห่างไปไม่ไกล ประมาณ 10- 20 กิโลเมตรส่งต่อเข้ามาในอ่างหรือในประตูน้ำที่เราปิดน้ำยวมก็ได้
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ตนรู้สึกตกใจที่โครงการอยู่ที่ คชก. และจะส่งไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพราะเดิมเป็นโครงการของกระทรวงพลังงาน ต่อมาโอนไปยังกรมชลประทาน เราเห็นความพยายามในนามส่วนตัวและในนาม กมธ. ผลักดันโครงการ ในช่วงที่ทำการศึกษา และ กมธ. ลงพื้นที่ ตนเองก็ได้ไปลงพื้นที่เดียวกัน พบว่าชาวบ้านต่างยืนยันว่าเมื่อ กมธ. มา จะพบเฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นสอดคล้องกับโครงการ แม้แต่ผู้นำท้องถิ่นจำนวนหนึ่งได้พยายามอธิบายข้อห่วงกังวลต่อ กมธ. และกรมชลประทาน แต่ก็ไม่มีการรับฟัง หน่วยงานบอกแค่ว่าไม่ต้องกังวล เป็นการขุดอุโมงค์ใต้ดิน แต่ในอีไอเอ พบว่าจุดทิ้งดิน อย่างน้อย 4 แห่งตลอดแนวอุโมงค์เกือบ 70 กม. เป็นพื้นที่ป่าที่มีชุมชนชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ ข้อมูลที่พบในอีไอเอไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
นายหาญณรงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำจดหมายถึงกรมกชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดวล้อม และ คชก. 2-3 ครั้ง ซึ่งพบว่า คชก. ไม่ได้เชิญชาวบ้านที่ทักท้วงมาให้ข้อมูลใดๆ มีเพียงเจ้าของโครงการเท่านั้นที่ได้มาให้ข้อมูล แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โครงการกลับได้รับอนุมัติให้ผ่านได้ จึงเกิดข้อสงสัยว่าใช้ข้อมูลใดในการประชุมพิจารณาดังกล่าว มีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างไร หากบอกว่าเป็นโครงการระยะหนึ่ง ขุดอุโมงค์ยาวเกือบ 70 กม. และอ้างเทคโนโลยีจีน แต่เราไม่เคยเห็นผลงาน มีตัวอย่างกรณีโครงการผันน้ำแม่แตงแม่งัด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่าการก่อสร้างล่าช้ามาก เกิดอันตรายและมีผู้เสียชีวิตโดยต้องใช้เวลาก่อสร้างนับ 10 ปี แต่โครงการนี้มีอุโมงค์ยาวกว่า ทำให้ตกใจว่าอีไอเอผ่านได้อย่างไร
“ในเฟส (ระยะ) 2 ที่จะมีการผันน้ำสาละวินซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ ที่ใช้ร่วมกับจีนและพม่า แม้อ้างว่าใช้น้ำไม่มาก แต่เราได้แจ้งประเทศในลุ่มน้ำหรือยัง ทราบมาว่าไม่นานมานี้พม่าได้ทำหนังสือถึงองค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง เพราะเขาเป็นห่วงผลกระทบ แต่กรมชลประทานและนักการเมืองได้คิดเรื่องนี้หรือไม่ หรือต้องรจนกว่าจะเกิดปัญหา”นายหาญณรงค์ กล่าว
ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าหลังจากมีอีไอเอของโครงการนี้เผยแพร่ออกมา พบว่ากรมชลประทานทำการประชาสัมพันธ์โดยตัดตอนข้อมูล นำเสนอเฉพาะข้อดี ว่าจะได้พื้นที่ชลประทานหลายล้านไร่ แต่การเพิ่มน้ำ 1,800 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ชลประทานทับซ้อนในลุ่มเจ้าพระยาอยู่แล้ว เป็นการใช้ตัวเลขจำนวนมาก ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง ซึ่งต้องคำนวนการใช้น้ำต่อไร่
“กมธ. ควรรู้ว่า หากกรมชลประทานจะเอาน้ำมา หรือจะร่วมทุนกับประเทศใดก็ตาม กรมชลประทานมีสิทธิในการเก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ การโอ้อวดว่าจะร่วมทุนและเก็บค่าน้ำไปคืนผู้ก่อสร้าง ถือว่าไม่ทราบข้อกฎหมายของไทย
การให้ภาครัฐลงทุนทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ว่ารัฐไทยจะมีเงิน เพราะโครงการซับซ้อนหลายขั้นตอนหลายสเต็บ บอกว่าใช้เวลาก่อสร้าง 4-7 ปี คิดว่าเป็นไปไม่ได้ การที่รีบเร่งผลักดันโครงการจนดูว่าผิดปกติ มีการคาดหวังอะไรมากกว่านี้หรือไม่ น่าสงสัย” นายหาญณรงค์ กล่าว
นายหาญณรงค์กล่าวว่า การเจรจาหากร่วมทุน ต้องมีการเจรจาหลายครั้ง ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านพบว่า จีนจะส่งออก know how ในการลงทุน ไม่มีทางที่จีนจะสร้างให้ฟรีๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่นักการเมืองต้องมีข้อมูลมากกว่านี้