เตรียมปรับมาตรฐานวิชาชีพครู เป็นของขวัญครูทุกคน วันที่ 30 พ.ย.60 ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (กช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู ของคุรุสภา 9 มาตรฐาน โดยอยากให้ปรับรายละเอียดของมาตรฐานวิชาชีพครูฯ ให้เชื่อมโยงกับการทำมาตรฐานวิชาชีพครู ของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา ที่จะต้องดูภาพรวมมาตรฐานวิชาชีพครูทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรฐานความรู้วิชาชีพครูฯ นั้น ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดสมรรถนะของครู ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทั้งกลุ่มนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 5 ปี ตลอดจนกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เรียนครูโดยตรง โดยเข้ารับการฝึกอบรม พัฒนาตนเอง หรือเทียบโอนให้ได้รับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครูฯ และสามารถใช้เป็นคุณวุฒิในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ โดยตั้งแต่ปี 2557-2559 มีผู้ผ่านการอบรมมาตรฐานวิชาชีพฯ ทั้งสิ้น 60,253 คน อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ อยากจะทำเรื่องนี้ให้เป็นของขวัญกับครูทุกคน ดร.พะโยม กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปดูเรื่องหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือก เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ว่าจะสามารถให้ความยุติธรรมกับทุกกลุ่มที่มีใบอนุญาตฯ และไม่มีใบอนุญาตฯ ครูได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากการจัดสอบที่ผ่านมาพบว่า ในบางสาขาวิชาเอก ไม่มีผู้สอบได้เต็มจำนวนที่ประกาศรับสมัคร จึงไม่ได้ครูตามที่ต้องการ ก็ต้องไปดูว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะได้ครูที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสอนในสาขาที่ขาดแคลน นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติรับรองปริญญาทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นคุณวุฒิในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (5 ปี) หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556 จำนวน 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการสอนภาษาไทย การสอนภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และวิชาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาการแนะแนว โดยให้รับรองตั้งแต่ปีการศึกษา 2556-2560 ที่มีการจัดการสอนในที่ตั้งของสถาบันเท่านั้น