ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่โรงเรียนควนโดนวิทยา อ.ควนโดน จ.สตูล นักเรียนในโครงการ ยุวเกษตร ได้เรียนรู้การสานโคร๊ะ เพื่อห่อผลจำปาดะ ผลไม้อัตลักษณ์จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นหนึ่งในสาระกลุ่มวิชาการงานอาชีพ ในเรื่องของการจักสาน มีการสอนตั้งแต่การตัดทางมะพร้าวที่จะเว้นระยะช่วงไว้ 3 ใบต่อ 1 ชิ้น ทางมะพร้าว 1 ทาง สามารถตัดแบ่งได้ 30 - 35 ลูก ก่อนนำส่วนที่ตัดเตรียมไว้มาประกบกัน สานสลับไปงาน โดยการทำในครั้งนี้เป็นลายลูกแก้ว ซึ่งเป็นลายง่ายๆเหมาะกับมือใหม่ และผู้ที่ต้องการความรวดเร็ว เมื่อนักเรียนได้โคร๊ะจากฝีมือตัวเองแล้ว คณะครู พร้อมด้วย นางวรรณนภา คงเคว็จ เกษตรอําเภอควนโดน นำนักเรียน เข้าสวนจำปาดะ ของนายรอเสด ตาเดอิน ซึ่งเป็นสวนจำปาดะแปลงใหญ่ของอำเภอควนโดน ตั้งอยู่หมู่ที่4 บ้านควนโต๊ะเหลง อำเภอควนโดน ที่เปิดสวนให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้วิธีการใส่โคร๊ะหุ้มผลจำปะดะ ซึ่งปกติจะเริ่มใส่ตั้งแต่ผลจำปาดะยังลูกเล็กเท่ากำมือ เพื่อเรียนรู้และร่วมสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งนี้ นายสมชาย ฉาดหลี นักเรียนยุวเกษตรโรงเรียนควนโดนวิทยา บอกว่า การเรียนรู้วิธีสานโคร๊ะ ดีมากๆ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และเป็นการสืบสานศิลปะพื้นบ้าน สามารถทำเป็นอาชีพได้ในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตแบบนี้ ทั้งนี้ก็สามารถที่จะต่อยอดนำไปสอนต่อที่บ้าน สำหรับผู้ที่มีต้นจำปาดะ เพื่อเป็นรายได้ ด้าน น.ส.อูมัยกโสม อาหลัง นักเรียนยุวเกษตรโรงเรียนควนโดนวิทยา กล่าวว่า อย่างแรกก็คือได้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านของอำเภอควนโดน รู้วิธีการสานโคร๊ะ ส่วน นายสุไลมาน เด่นดารา ครูโรงเรียนควนโดนวิทยา กล่าวว่า การสานโคร๊ะในลักษณะนี้ เป็นลายธรรมดาแค่สานสลับไปสลับมาเท่านั้นเอง การสานโคร๊ะอยู่ในสาระกลุ่มวิชาการงานอาชีพ ในเรื่องของการจักสาน นักเรียนทุกคนสามารถทำได้ ทำเป็นมาจากที่บ้านแล้วบางส่วน ทางโรงเรียนเพียงส่งเสริมให้นักเรียนได้กระจายให้เพื่อนได้ทำเป็นด้วย โดยโคร๊ะตกอยู่ที่ราคาลูกละ 3 บาท 5 บาท ช่วงแรกตอนที่จำปาดะออกผลเล็กๆเท่ากำมือ สามารถเอาโคร๊ะไปใส่ได้แล้ว สำหรับจำปาดะที่ใส่โคร๊ะ จะให้สีสันสวยงาม ถ้าใส่โคร๊ะจากใบมะพร้าวเมื่อจำปาดะแก่จัดก็จะมีลายเขียวเหลืองสลับเป็นลายตาม จังหวะของใบมะพร้าว ช่วยในการกันแมลงได้ด้วยเพราะในใบมะพร้าวจะมีสารที่สามารถไล่แมลงในบางส่วนที่จะมากินมาเจาะผลจำปาดะ ขณะที่ นางวรรณนภา คงเคว็จ เกษตรอําเภอควนโดน กล่าวว่า ทางเกษตรอำเภอควนโดน ร่วมกับโรงเรียนควนโดนวิทยา จัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาไทย โดยให้เด็กๆได้เรียนรู้การจักสานโคร๊ะ ซึ่งโคร๊ะมีประโยชน์มากสำหรับจำปาดะหรือว่าขนุน เนื่องจากว่า โคร๊ะสามารถป้องกันแมลงที่ไปทำลายผลผลิต ในการใส่โคร๊ะจะเริ่มตั้งแต่ผลผลิตอายุประมาณ 1 เดือนถ้าเลยจากนั้น แมลงอาจเข้าไปวางไข่ทำผลผลิตเสียหาย ภูมิปัญญาตัวนี้กำลังจะสูญหาย ไปจากหลายพื้นที่ จึงให้เด็กๆได้สืบทอดภูมิปัญญาจากครูหรือผู้ที่มีภูมิความรู้การจักสานตัวนี้ สำหรับโคร๊ะ นั้น นอกจากใช้หุ้มผลไม้ โดยเฉพาะจำปาดะ ขนุน เพื่อป้องกันแมลงแล้ว ยังเป็นแพคเกจจิ้งหุ้มจำปาดะเพื่อกันกระแทก เพื่อความสวยงาม ก่อนส่งผลไม้ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย นับเป็นประโยชน์สองต่อ และเป็นที่ประทับใจของลูกค้าเมื่อทางสวนส่งผลไม้ไปยังปลายทาง ซึ่งปัจจุบันได้ผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะเกษตรกรขายออนไลน์มากขึ้น หลังกระทบโควิด การเดินทางมาหาซื้อที่สวนลดลง ทำให้ชาวสวนรับซื้อโคร๊ะสำหรับเป็นแพคเกจส่งให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น