ในยุคที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นอัจฉริยะเหมือนดาวินชีอย่างในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ จนถึงปัจจุบันเกิดวิกฤติ COVID-19 ที่สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนรู้ ด้วย "The 7 Davinci Principles by Michael Gelb" หรือ "หลัก 7 ประการของดาวินชี โดย ไมเคิล เกลบ์" ซึ่งเป็นนักคิด-นักเขียนระดับโลก ก็สามารถนำมา "เปลี่ยนลูกให้เป็นอัจฉริยะ" ได้ไม่ยากด้วยตัวเอง
รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้อธิบายถึง "The 7 Davinci Principles by Michael Gelb" ว่าประกอบไปด้วย 1."Curiosita" หรือ ความอยากรู้อยากเห็น 2."Dimonstrazione" หรือ การเรียนรู้จากความผิดพลาด 3."Sensazione" หรือ การเรียนรู้จากระบบประสาทสัมผัสทั้งหก 4."Sfumato" หรือ การเปิดรับความขัดแย้ง 5."Arte/Scienza" หรือ การผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ ตรรกะและจินตนาการ สมองซีกซ้าย-ขวา 6."Corporalita" หรือ การสร้างความสามารถที่หลากหลายและการมีสติสัมปชัญญะ และ 7."Connessione" หรือ การจดจำเชื่อมโยง และคิดอย่างเป็นระบบ
ซึ่งหลักการ "Curiosita" หรือ ความอยากรู้อยากเห็น ถือเป็นการเริ่มต้นสู่การเรียนรู้ที่สำคัญ จะดีเพียงใดหากเราสามารถสร้างกลวิธี หรือปลูกฝังให้เด็กเกิดความกระหายใคร่รู้ เพื่อทำให้เขาสามารถสร้างคำถาม และหาคำตอบโดยการลงมือทำด้วยตัวเอง รวมทั้งได้เปิดตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางสมองและร่างกาย และเรียนรู้ได้มากขึ้น
ตัวอย่างของการฝึก Curiosita ให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน คือ การให้เด็กได้แข่งกันตั้งคำถามที่ไม่คิดว่ามีใครตอบได้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้แข่งกันหาคำตอบด้วยในขณะเดียวกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเรียนรู้ของเด็กไทยว่า เกิดจากการไม่มีการฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม แต่มักสอนโดยคุณครูตั้งโจทย์ เพื่อให้เด็กมุ่งหาคำตอบเท่านั้น เลยกลายเป็นว่า เด็กอาจแก้ปัญหาได้ แต่คิดคำถามไม่เป็น เพราะมัวแต่หาคำตอบที่ผู้อื่นตั้งให้ ซึ่งการตั้งคำถามที่เกิดจากความกระหายใคร่รู้ จะเป็นบ่อเกิดสู่ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ได้ต่อไป
บ่อยครั้งเหตุเกิดจากการที่เด็กมัวแต่กลัวผิดพลาดจึงไม่กล้าตั้งคำถาม และลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ โดยในชีวิตจริงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เกิดผลเสียน้อยกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางวิชาชีพ เช่น แพทย์ หากไปทำผิดพลาดอาจทำให้ผู้อื่นสูญเสียอวัยวะ หรือถึงแก่ชีวิต หรืออาจถูกดำเนินคดีได้ เป็นต้น
แม้แต่ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการเรียนรู้ช่วงวิกฤติ COVID-19 ก็จำเป็นต้องใช้ทักษะต่างๆ ในการค้นคว้าหาข้อมูล หากรู้จักตั้งคำถาม ก็จะได้คำตอบที่ตรงประเด็น และในการอ่าน และการฟัง ถ้ายิ่งจับประเด็นเป็น ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ได้มากขึ้นเท่านั้น
29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2564 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“สอนเป็นจีเนียสอย่างดาวินชี (Teaching to be a genius like Da Vinci) ณ โรงแรมโนโวเทล สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมฝึกตั้งคำถาม ฝึกสังเกต และฝึกประสาทสัมผัสแบบทดลองให้เห็นจริง ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ นอกจากจะได้ฝึกสร้างแบบทดลองด้วยตัวเองแล้ว ยังได้เรียนรู้เทคนิค และกิจกรรมต่างๆ มากมาย ที่นอกจากจะสามารถฝึกระบบประสาทสัมผัส สร้างสมาธิแล้ว ยังสร้างความเพลิดเพลินอีกด้วย
"หากเราสามารถฝึกเด็กไทยให้พร้อมด้วยทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนรู้ได้ ก็จะทำให้เด็กไทยมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น จากการสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น ยิ่งเรียนสนุก ก็ยิ่งฉลาด และพร้อมจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติได้ต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.il.mahidol.ac.th
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล