กสส. ปั้นเครือข่ายสหกรณ์ผงาดเป็นตลาดเพื่อสินค้าเกษตรตัวจริง หวังเป็นช่องทางค้าผลผลิตการเกษตรเกรดพรีเมี่ยมจากสหกรณ์ถึงมือผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร พัฒนาและยกระดับทำธุรกิจค้าขายสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยม เพื่อนำผลผลิตการเกษตรจากสมาชิกสหกรณ์หรือเกษตรกรทั่วไป ในพื้นที่ต่างๆ คัดเกรดคุณภาพมาบริการและจำหน่ายสู่ผู้บริโภค นอกเหนือจากธุรกิจปกติที่สหกรณ์รวบรวมผลผลิตและส่งจำหน่ายให้กับคู่ค้าประจำ ทั้งห้างโมเดินเทรดและพ่อค้าเอกชนเท่านั้น ซึ่งกรมฯจะผลักดันให้สหกรณ์ยกระดับเป็นตลาดสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยม เป็นตลาดทางเลือกสำหรับให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าจากสหกรณ์ โดยเฉพาะในยุคการค้าออนไลน์ที่ผู้ซื้อสามารถเข้าสั่งซื้อสินค้าได้ทางอินเตอร์เน็ต คาดว่าแนวทางนี้จะช่วยส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรเป็นตลาดสินค้าเกษตรกรคุณภาพที่แท้จริง สามารถคัดสรรสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตอบสนองผู้บริโภคซึ่งมีความต้องการสินค้าคุณภาพด้วยเช่นกัน
"ผมหวังว่าสหกรณ์จะเป็นตลาดสินค้าเกษตรพรีเมี่ยม ตลาดใหม่ และต้องดีกว่าทุกตลาดเพราะเป็นความร่วมมือของสหกรณ์และสมาชิกที่ต้องช่วยกันนำเสนอของดีให้กับผู้บริโภคที่ต้องได้ทานของดีเกรดส่งออก จากเดิมที่ประชาชนทั่วไปมักจะได้บริโภคสินค้าเกรดรอง จนมีคำพูดที่ว่าคนไทยไม่ได้กินของดี ของเกรดส่งออกหากินยาก เป็นต้น จึงหวังว่าจะให้สหกรณ์มาทำหน้าที่เหล่านี้คือแสวงหาของดีมาป้อนตลาด ซึ่งเดิมทีสหกรณ์การเกษตรเราได้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างกันในเครือข่ายสหกรณ์ หรือเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า เพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในช่วงฤดูผลไม้ราคาตกต่ำ เป็นประจำเกือบทุกปี แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมเห็นว่าจากประสบการณ์เหล่านั้น เรายกระดับมาทำเป็นธุรกิจปกติของสหกรณ์เลยจะดีกว่า สหกรณ์การเกษตรควรเข้าสู่การทำธุรกิจการค้าสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยมได้แล้ว ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ สินค้าเป้าหมายเบื้องต้น เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียนหรือสินค้าเกษตรที่ผู้บริโภคสนใจจะสั่งซื้อจากสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยกรมมีตัวอย่างสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จเช่น สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช สหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด และสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สามารถยกระดับการขายมังคุด เงาะ คัดเกรดคุณภาพ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และในปีที่ผ่านมาสหกรณ์การเกษตรสามารถรวบรวมผลไม้ได้กว่า 30,000 ตัน มูลค่ากว่า 789 ล้านบาท"นายวิศิษฐ์ กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ พร้อมสนับสนุนสหกรณ์ที่ต้องการพัฒนาและยกระดับธุรกิจเข้าสู่รูปแบบดังกล่าวโดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) นอกจากนั้น พร้อมที่จะประสานให้สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด เป็นพี่เลี้ยงอบรมการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ให้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ก็เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกร ขณะที่สหกรณ์เหล่านั้นก็จะต้องเข้าไปช่วยส่งเสริมสมาชิกของท่านในการพัฒนาแปลง พัฒนาสวน พัฒนาไร่ เพื่อยกระดับเป็นแปลงการเกษตรที่ดีหรือจีเอพี การยกระดับ โรงคัดบรรจุหรือล้งเป็น GMP เพื่อคัดสรรนำผลผลิตคุณภาพสู่ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กสส.มีโครงการแก้ปัญหาระยะสั้นในช่วงราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ โดยการสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรภายในเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกัน เช่น สหกรณ์การเกษตรที่ขายข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับสหกรณ์ที่จำหน่ายผลไม้ในภาคใต้ เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน หรือโครงการแลกผลไม้กับข้าว เช่น สหกรณ์ในจังหวัดพะเยาและพิจิตร แลกข้าวกับมะม่วง สหกรณ์ในจังหวัดนครราชสีมา ร้อยเอ็ด แลกข้าวกับผลไม้กับสหกรณ์ในภาคใต้ เป็นต้น ช่วยกระตุ้นราคาสินค้าในพื้นที่ให้สูงขึ้น ผลจากการแลกเปลี่ยนระหว่างข้าวและผลไม้ ปริมาณกว่า 1,221.33 ตัน มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท สามารถดูดซับปริมาณและพยุงราคาผลผลิตของเกษตรกรผู้ผลิตไม่ให้ตกต่ำ ผู้บริโภคปลายทางได้บริโภคผลไม้ที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้จำหน่ายและผู้บริโภค
ผลจากการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบัน ปริมาณผลผลิตมังคุดและเงาะของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในภาคใต้ ผ่านกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วกว่า 60 % ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด และคาดว่าปริมาณผลผลิตเงาะจะสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ในส่วนของปริมาณผลผลิตมังคุดของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ยังคงเหลือปริมาณผลผลิตที่ต้องเก็บเกี่ยวอีกจำนวน 40 % คาดว่าจะสามารถจำหน่ายผลผลิตได้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคารับซื้อผลผลิตมังคุด ปรับตัวสู่ขึ้น จากช่วงเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 7-10 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 23–47 บาท ต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของมังคุด ทำให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น