บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
สงครามความคิดเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการรักษาสมดุล
เมื่อมี “วิกฤติทุกอย่าง” ในโลกแห่งความเป็นจริงต้องยอมรับกันและกัน ถือเป็น “ศาสตร์และศิลป์แห่งการรักษาสมดุล” ยังคงมาแรง “ฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรม” “ฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายไม่ประชาธิปไตย” ผู้บริหารจะอยู่ไม่ได้ ขาดความชอบธรรม หากไม่มีความรู้ความสามารถในการแก้วิกฤติชาติ เป็นคำบ่นก่นด่าที่ซ่อนลึกในหัวใจคนหลายๆ คน ที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ แต่เป็นสำนึกในก้นบึ้ง เพราะเขาว่า “ความดี ความชั่ว” นั้น พิสัย (range) มันห่างกันแค่กะพริบตาหรือเส้นยาแดงผ่าแปด เมื่อมันอยู่ใกล้กัน เพียงแค่พลิกก็กลับฝั่งกลับด้านแล้ว นี่แหละ มนุษย์ที่ไม่ชัดเจนเหมือนเช่น เดรัจฉาน ที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้มากกว่ามนุษย์ ก็เพราะมนุษย์มันมีความถือตัว อคติ ใจแคบ “ทิฐิ” หลากหลายความคิด ที่ห้ามกันไม่ได้ มีผู้รู้สรุปว่าไทยแย่ก็เพราะ (1) ชนชั้นนำ(Elite) พิทักษ์ประโยชน์ส่วนตนและโคตรตระกูล (2) ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ที่ขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ชอบปากว่าตาขยิบ ที่เต็มไปด้วยเนติบริกร
เสรีภาพที่ต้องถูกบดบัง
เสรีภาพการชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธที่เป็นการแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย แม้จะถูกต้องตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ในสายตา ของใครก็ตาม หรือแม้แต่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เองก็ตาม ยังไม่เพียงพอ เพราะเหตุผล “วิกฤติของบ้านเมือง” ที่เหนือกว่า “สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” (Political Expression) ของประชาชน ได้ถูกบดบังสิ้นไปแล้วด้วยวิกฤติโควิด บดบังแม้กระทั่ง “ความผิดพลาดในการบริหารจัดการของรัฐ” พูดถึง “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) ต้องของทุกคน ทั้งตำรวจ ทั้งม็อบ และทั้งชาวบ้าน จึงอ้างกันไม่ได้ในภาวะเช่นนี้ โดยเฉพาะ สิทธิเสรีภาพ “อารยะขัดขืน” (Disobedience) มีหลักการสากล (International Law) หรือ หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ปรัชญาว่า “สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of Expression) หรือ “สิทธิมนุษยชน” (Human Rights) ไม่ต้องไปพูด
แต่เรื่องการจำกัดสิทธิ แม้ในสิทธิการทำมาหากิน เศรษฐกิจปากท้องของคนรากหญ้า จึงเหมาโหลด้วยมาตรการ “Lockdown” หรือ “มินิล็อกดาวน์” หรือ “การปิดเมือง” โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ที่เคร่งวินัยกันรวม 14 วัน (12-25 กรกฎาคม 2564) ตามข้อกำหนดฯ ยังต่อขยายไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่การระบาด “สีแดงเข้ม 29 จังหวัด” แม้ว่าในคำแถลงและเอกสารจะไม่ใช้คำว่า ล็อกดาวน์ หรือ เคอร์ฟิว แต่เป็นเพียงมาตรการเชิง “ขอความร่วมมือ” กลายๆ แค่นี้เศรษฐกิจรากหญ้าก็ไม่เกิดแล้ว เมื่อสถานการณ์โรคระบาดมาถึงขนาดนี้ ยอดป่วย ยอดตาย แทงยอดแข่งกันวันละเป็นหมื่น
การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจเป็นเรื่องของคนทุกคนเลิกคิดเรื่องโลกหรูๆ
ไม่ว่าเราจะขีดจะเขียนอะไรไปก็ไม่พ้นเรื่อง “การเมือง” (Politics) เพราะว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจ (Power & Authority) ของบ้านเมือง แย่งชิงกัดกันไปมา จีน สหรัฐ สงครามความคิด เป็นกันทั่วโลก ยิ่งมาเจอสงครามเชื้อโรค ยิ่งไม่พ้นสนามเวทีการเมืองโลกไปได้เลย
ข่าว “กรุงคาบูล อัฟกานิสถานแตก” เพราะ “กลุ่มตาลีบัน” หัวรุนแรงชาตินิยมที่รักชาติบ้านเมืองสุดโต่งยึดเมืองหลวงทำเอาอีกฝ่ายตกใจไม่น้อย ยังไม่พอยังช็อกตกใจข่าวใกล้บ้านไทย คือ “ฟิลิปปินส์พบเหยื่อรายแรกโควิดแลมบ์ดา” ที่เป็นสายพันธุ์โหดจากเปรูที่เข้ามาทางออสเตรเลียจนเอาไม่อยู่ ประชาชนชาวไทยเตรียมตัวให้ดี พักนี้มีแต่ข่าวหดหู่ ตายทั้งเป็น เรียกได้ว่าจะเรียกวิกฤติศรัทธาที่หดหายไปนั้น ให้กลับคืนมาดีได้อย่างไร
ฝ่ายโลกสวยเชื่อว่า ไทยคงไม่ย้อนกลับลงไปถึง ยุคเข็ญ หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแน่ เพราะมีบทเรียนอยู่ มีคนที่ได้รับผลกระทบแย่คือ (1) กลุ่มนักลงทุนที่อาศัยระบบหมุนเวียนการค้าขายธุรกิจนอกปัจจัยสี่ (จปฐ.) (2) กลุ่มคนมีอาชีพรับจ้าง และ (3) กลุ่มธุรกิจอื่นๆ นอกจากปัจจัยสี่ เพราะว่าบรรดาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ก็ผลิตเพียงเท่าที่จะขายได้ ส่วนธุรกิจอย่างอื่นนั้นที่เกี่ยวข้องกันกับ จปฐ. อาทิ งานตกแต่งหรูหรา (Luxeries หรือ Luxury goods สิ่งหรูเกินตัว ฟุ่มเฟือยฯ เกินจำเป็น) ต้องลดหายไป เช่น เสาไฟหรูกินรีที่เหลือแต่ภาพแบบโรงลิเก เวทีร้างให้จดจำ ส่วนธุรกิจการบินท่องเที่ยวหรู รถตู้โดยสารโค้ช โรงแรมหรู สนามกอล์ฟหรู รถหรู บ้านหรู ฯ ทั้งหลาย จะลดลงไป ความหรูต้องมาทีหลัง หากความหรูจะคืนมาบ้างก็ต้องด้วยเหตุผลอื่น เหตุผลต้นๆ ในการเลือกบ้าน เลือกรถ สิ่งของ จปฐ. นอก จปฐ.
ยกตัวอย่าง normal intrend เช่น คำนึงถึงเรื่องความคงทน แข็งแรง ความเหมาะสมสะดวกในการใช้งาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาเป็นธรรม
ฉะนั้น งานแต่งหรู งานขึ้นบ้านใหม่หรู การจัดงานหรูๆ การประดับหรูๆ ทั้งหลาย คงเกินความจำเป็นสำหรับยุคนี้ ยกตัวอย่างจีน อินเดียที่มีประชากรอยู่ลำดับที่ 1-2 ของโลก เรื่อง การซ่อมรถ การผลิตสินค้า แบบเรียบง่าย เราต้องยอมรับว่า เขามีจิตใจมุ่งมั่นในผลสำเร็จที่อยู่เหนือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มาก ที่จะทำให้เป็น แต่คนไทยยังเสพติดหรู พรั่งพร้อม บ้าตามฝรั่งตะวันตก จนเคยชิน หากจะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องมีไอ้นั่น มีไอ้นี่มาประกอบให้ดูเว่อร์ ไม่เว้นแม้แต่การแข่งกันโชว์ “อีเว้นต์” เอาหน้าเอาตา ในวงการช่าง วงการทหาร ตำรวจ การคลัง การเงิน ยกเว้น งานการเกษตร ที่ต่อให้โชว์หรูๆ เพียงใด เช่นการเปิดงานต้องตัดริบบิ้น เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น มันไม่ใช่การโปรโมตที่หลงทาง ไม่ว่ารัฐจะโปรโมทงานนโยบายใดๆ งาน Solar Rooftop ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านดูจะยากไปหมด เพราะหากคิดเพียงค่าใช้จ่าย ตัวเลข พลังงานในระยะยาวน่าจะได้ดี แต่หากคิดย้อนมาค่าการบำรุงรักษาที่ยังไม่ได้นำมาคิด อาจขาดทุน เช่น ภาระในการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดในอนาคต หรือ การสูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แลกกัน เช่น สูญเสียพื้นที่เกษตรเพื่อแลกกับพื้นที่เพื่อติดตั้ง “โซลาร์ฟาร์ม” เป็นการส่งเสริมกลุ่มนายทุนโดยปริยาย มิได้ส่งเสริมรากหญ้าเลย เป็นต้น
กระแสโควิดโหดร้ายมาแรงเกินคาดทำให้เศรษฐกิจทรุด ข่าว "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" หั่นจีดีพีปี 2564 ติดลบ 0.5% คาด Q3 หนัก หวังว่าไทยคงไม่ล้มละลายเหมือนเวเนซุเอลาเมื่อหลายปีก่อน มิใช่เฉพาะไทยหากแต่เป็นกันทั้งโลก อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐ หากเป็นรัฐมหาอำนาจหรือเก่งการบริหารก็ผลกระทบแตกต่างกันมาก แต่กรณีของไทยหลายคนมองเห็นแต่ทางตันๆ ตอกย้ำข่าวว่าไทยฉีดวัคซีนตัวไหนดียังไม่จบ ยังไม่มีข้อยุติขณะที่นายกฯมาเลเซียประกาศลาออกหลังคุมโควิดไม่ได้ แม้จะใช้วัคซีนไฟเซอร์มันน่าหดหู่จับใจ ยังไม่พอข่าวการเอาผิดผู้ค้าโก่งราคา “ฟ้าทะลายโจร” ที่ถือเป็นการแพทย์ทางเลือกในการรักษาโควิดเพียงอย่างเดียวที่พอทำได้ในช่วงที่ไม่มีวัคซีนนี้ยิ่งรันทดมากขึ้น
New Normal วิกฤติโควิดใน อปท. มหากาพย์ “หน้ากาก วัคซีน และชุดตรวจ”
โควิดมันเป็นมหากาพย์ของรัฐจริงๆ เพียงสามเรื่องเท่านี้รัฐบาลก็มีปัญหา “วิกฤติแห่งศรัทธา” ทันที มาตั้งต้นกันว่าบ้านเมืองมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว โลกมิได้สวยศิวิไลซ์ตามที่หลายคนนึกคิด อย่าเข้าข้างตนเอง และไม่จำเป็นต้องคิดบวกแต่ทางเดียว หรือ “คิดแบบโลกสวย” (โลกไม่ทราม) ทางเดียว เพราะ โลกมีความแตกต่าง มีความเห็นต่างอยู่ทั่วไป เป็นของคู่กันกับสังคมโลก
ด้าน อปท.มีแต่เรื่องเสี่ยงๆ กับการแก้ไขปัญหาโควิดกันทั้งนั้น เพราะ “งาน อปท.คืองานด่านหน้า ของคนด่านหน้า” มิใช่เพียงบุคลากรแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น เพราะทุกอย่างตอนนี้การแก้ไขปัญหาโควิดชุมชนลงที่ท้องถิ่นหมด มีการสั่งการให้ อปท.ทุกแห่งทำ HI (Home Isolation / CI (Community Isolation) และ HQ ที่กักกันตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน/ LQ การกักตัวในสถานที่กักกันของ อปท. รองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่แตกทะลักออกจากเมืองหลวงและปริมณฑลที่ล้นเตียงโรงพยาบาลและตกงานกลับคืนสู่ตามแต่ละภูมิลำเนา โอ้พระเจ้าช่วยกล้วยทอด เวรกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้ก็เก็บไม่ได้เพราะรัฐสั่งลดการจัดเก็บภาษี เงินจัดสรรจากรัฐบาลก็ลดลง แล้ว อปท.จะอยู่รอดอย่างไรมีใครคำนึงถึงหรือไม่ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 - 65 มีแต่ตกต่ำ ถ้าโควิดไม่จบ ปี 2566 อปท.คงล้มละลาย
ยังมีเรื่องมึนๆ อีกที่ให้ท้องถิ่นสำรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายชุมชนในเทศบาล มีความเห็นหลากหลาย ลองคิดตาม (1) ยังไม่ต้องมึน ยังมีอีกเยอะที่ให้ท้องถิ่นดำเนินการ กระจายงาน แต่ไม่กระจายรายได้และไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง (2) ด่านหน้าคือท้องถิ่นของจริง ทุกงานโยนมาที่ท้องถิ่น ตอนจบท้องถิ่นไม่สวยโดนตรวจสอบทุกอย่าง อปท.หลายแห่งจึงพยายามใช้งบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากหน่วยตรวจสอบ เพราะเมื่อผู้มีอำนาจเข้าครอบงำการบริหารจัดการแทนคนท้องถิ่นเมื่อใดมักเป็นเรื่อง ฉ้อฉล ตอแหลเงินงบจะโผล่ แต่ ณ เวลานี้คนทำงาน อปท. ไม่มีค่าเสี่ยงภัย ยังไม่ได้วัคซีน ไม่มีโควตาให้ท้องถิ่น ที่ได้ฉีดก็เพราะเหลือโควตามาจาก อสม.หรือครู (3) มท.สั่งการมาตั้งแต่ปี 2563 สำรวจแรงงานคนต่างด้าว, คนเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง อปท.ทำตั้งแต่ตั้งด่าน, ค้นหา, พ่นยาฆ่าเชื้อ ตั้งศูนย์กักกันตัว (LQ) ศูนย์พักคอย (CI) น้องๆ รพ.สนาม ส่งอาหาร, ไปจนถึงสัปเหร่อ ส่งไปเผา ที่วัด/ แต่อำเภอเป็นคนสรุปรายงาน ก็ใช้ อปท.ทำ/รายงานและใช้งบ อปท. (4) อบต.ยังไม่มีศักยภาพและหน้าที่จัดหาวัคซีน มีแต่ อบจ.ซื้อวัคซีน นายก อบต.กลัวจะไม่ได้คะแนน ตอนนี้จะให้ อปท.ซื้อชุดตรวจ งบกระทรวงสาธารณสุขไปไหน อปท.ใหญ่ซื้อวัคซีนได้แต่ยังต้องไปจ่ายค่าฉีดค่าเก็บวัคซีนอีก หาก อปท.ซื้อชุดตรวจ ต้องจ้างใครมาตรวจต่ออีกไหม (5) ราชการมักถนัดสร้างงานซ้ำซ้อน งานนี้ต้องไปสาธารณสุขให้เวลาท้องถิ่นไปช่วยงานโควิดและงานอื่นอย่างเต็มที่ดีกว่า มีปัญหาว่า รพ.รักษาผู้ป่วย หนึ่งคนในระยะเวลา 14 วัน ตามขั้นตอนแต่ด้วยสาเหตุที่โรคระบาดหนัก ไม่มีเตียงให้ผู้ป่วยรายใหม่นอนทางการแพทย์จึงให้ผู้ป่วยที่นอนรักษามาสิบวันและอาการดีขึ้น ลงไปนอนพักต่อในชุมชน คือ CI และโรงพยาบาลจะรับผิดชอบในเรื่องของการรักษาตลอดจนค่าอาหารอีกสี่วัน เนื่องจากรายชื่อผู้ป่วยยังไม่ตัดออกจากระบบการรักษาของโรงพยาบาล ดังนั้นหากเวลานี้มีการผลักคนให้ลงไปนอนใน CI กรณีของ อบต. เช่น จะไม่เบิกค่าอาหารแต่จะหาอาหารมาให้ผู้ป่วยได้กินไปก่อน (6) การสำรวจเอาข้อมูลคงไม่ยาก ผู้ป่วยมากจาก กทม.หรือต่างจังหวัด ส่งตรงไป รพ.สนาม ทั้งคนเคยกำลังรักษาและคนที่หายป่วยแล้ว สาธารณสุขจังหวัดมีข้อมูลครบแล้ว ศบค.จังหวัด ผู้ว่าฯ เป็นประธาน มีข้อมูลยืนยันอยู่แล้ว อปท.ไม่มี (7) ฝากคิดกันประเทศทั้งประเทศพื้นที่เป็นท้องถิ่นทุกตารางนิ้ว แต่คนท้องถิ่นกลับเป็นองค์กรที่ไม่มีหัว เป็นองค์กรเดียวที่มั่ว ไม่มีผู้บังคับบัญชาที่เป็นคนท้องถิ่น ผู้ว่าฯ คือใคร ท้องถิ่นอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัดคือใคร ใช่คนท้องถิ่นไหม (8) ปัจจุบันการตั้งรับผู้ติดเชื้อในชุมชน อปท. เริ่มจาก LQ มา CI ค่อนข้างหนัก ต้องลงขันกับอำเภอ เพราะอำเภอก็ไม่มีงบ จังหวัดก็บอกไม่มีงบ ก็ต้องมาของบสนับสนุน บริจาคช่วยกันในภาพรวม จากอปท แต่ละแห่ง และ อปท.ยังต้องทำเองในพื้นที่ตัวเองอีก เรียกว่าเจอสองเด้ง ยกตัวอย่างเช่น อุดหนุนอำเภอ และทำของ อปท.เองอีกเกือบ 100 เตียง เตรียมไว้ และเลี้ยงอาหารสามมื้อ แจกจ่ายยาสมุนไพร น้ำสมุนไพร แมสก์ เจล ฉีดพ่นยาในพื้นที่ รถรับส่งคนป่วย คนเสี่ยงสูง คนติดเชื้อ สารพัด รวมแล้วก็ 100 กว่าคนต่อวัน ต้องทำไปทุกวันจนกว่าหมดโควิด ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ ถือเป็นภารกิจสำคัญโดยตรง ที่นักการเมืองท้องถิ่น ต้องเด้งรับสนองนโยบาย จะไม่ดูแลชาวบ้านไม่ได้ เพราะห่วงว่า (7.1) งบเงินดูแลประชาชนขาด ส่วนกลางไม่มีงบเพิ่มมาให้เลย รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจ ลงมาให้ด่วน (7.2) กระทรวงสาธารณสุขรับมือไม่ไหว ตั้งแต่การสำรวจคนลงทะเบียนฉีดวัคซีน นอกจากการบริหารจัดการกระจายงานจัดการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ โควิดที่บกพร่อง เพราะไม่เข้าใจโครงสร้างระบบราชการและชุมชนอย่างแท้จริง ทางการเมืองถือว่าเสียหายมาก ยังมีที่ผิดพลาดอื่นอีก เช่น (1) รัฐกู้เงินล้านๆ บาท ใช้เงินไปบานแล้ว ละลายหายไปเรียบ อัดฉีดหาเสียงล่วงหน้า อสม.ไปเกือบหมื่นล้าน (2) บริหารแย่ล้มเหลว บริหารจัดการคนป่วย คนเสี่ยงสูงก็ไม่รอด คนตายคาบ้าน มีดีอย่างเดียวคือ ค้ำรัฐบาลไว้ได้แค่นั้น นอกนั้น ล้มเหลวหมด แต่สมัยหน้าหน้าเก่าๆ ก็กลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม การสาธารณสุขไทยยังไม่มั่นใจเรื่องวัคซีน เรื่องเชื้อโควิด การใช้วิธีการรักษาไป ดูอาการไปเป็นการศึกษาทดลองไปในตัว เป็นหนทางบรรเทาความเลวร้ายวิธีเดียวที่ทำอยู่
เอากันให้สุดนะ สังคมยังวิบัติกันไม่พอ นักคิดทฤษฎีมัวแต่ถามหา “เจตจำนงเสรี มีจริงหรือแค่สิ่งลวงตา” (The General Will or Free Will is Exist or is it just an Illusion) แซวกันว่า พวกคุณ (บริหารงานกัน) “สนุกกันพอหรือยัง” เสียงสะท้อนจากการค่อนแคะเชิงก่นด่า อย่าเพิ่งไปฝันถึงยุคศิวิไลซ์ “ประเทศไทยทำไมซวยขนาดนี้” “คนยังชอบนักการเมืองแบบนี้อยู่หรือ” คงต้องปรับกรอบความคิดกันใหม่แบบ disruptive กันครั้งใหญ่แน่นอน เพียง 7 ปีหลังการวางแผนมากว่า 3 ปี จากผู้นำอันดับต้นอาเซียน กลายเป็นชาติอันดับโหล่ที่ 120 ชาติ รัฐยังไม่ล้มเหลว (The Failed State) พอแล้วใช่ไหม นี่คือประเทศไทย